สยามคูโบต้า จับจังหวัดอุบลฯ ปั้น “เมืองต้นแบบแบบปลอดการเผา” พัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

  •  
  •  
  •  
  •  

สยามคูโบต้า ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จังหวัดอุบลราชธานี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการ “เกษตรปลอดการเผา” (Zero Burn) ภายใต้โมเดล “อุบลราชธานี เมืองต้นแบบปลอดการเผา” มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในภาคการเกษตร รวมถึงส่งเสริมระบบบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ภายใต้องค์ความรู้ KUBOTA (AgriSolutions เกษตรครบวงจร สานต่อการพัฒนาภาคเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

      นายวีรพงศ์ วิรบุตร์ ผู้จัดการภาคอีสานอาวุโส – แทรกเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัดเปิดเผยว่า ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ “ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5” โดยกว่า 50% เกิดจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งรวมถึงการเผาในพื้นที่ทางการเกษตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน สยามคูโบต้าในฐานะผู้นำด้านเครื่องจักรกลการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน ได้เล็งเห็นความสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงดำเนินโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) เพื่อพัฒนาภาคเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน

                                                          วีรพงศ์ วิรบุตร์

     นายวีรพงศ์ กล่าวอีกว่า ในปี 2562 สยามคูโบต้า เกิดแนวคิดในการจัดตั้ง “โครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn)” โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรปลอดการเผา ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้หลังการเก็บเกี่ยว เช่น ฟางข้าว ตอซังข้าว และใบอ้อย ด้วยการนำนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (Machinery So lutions) และองค์ความรู้ด้านการเกษตร  (Knowledge Solutions) ภายใต้องค์ความรู้ KUBOTA (AgriSolutions เกษตรครบวงจรมาประยุกต์ใช้เพื่อจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

    สำหรับโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burnมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อทำการเกษตรในรูปแบบปลอดการเผา สอดคล้องกับเป้าหมายภาครัฐในการลดการเผาในพื้นที่การเกษตรให้เป็นศูนย์ ภายในปีพ.ศ. 2565 สยามคูโบต้าจึงมุ่งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการปลอดการเผาผ่านกิจกรรมรณรงค์และสัมมนาโครงการฯ ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เชียงใหม่ และมหาสารคาม พร้อมทั้งลงพื้นที่ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งจังหวัดปลอดการเผา ในพื้นที่เกษตรเป้าหมาย 12 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม อุบลราชธานี ศรีสะเกษ เชียงใหม่ เลย หนองคาย ร้อยเอ็ด มุกดาหาร พะเยา กำแพงเพชร สระแก้วและราชบุรี โดยมีจังหวัดมหาสารคามและอุบลราชธานีเป็นจังหวัดต้นแบบที่พร้อมนำร่องแนวคิดการทำเกษตรปลอดการเผาแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ   

    “ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่าน สยามคูโบต้าได้นำร่องความร่วมมือกับจังหวัดมหาสารคาม และได้สานต่อโครงการฯ โดยการร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) จังหวัดอุบลราชธานี ผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานภาคเอกชน ดังเช่น หอการค้า จังหวัดอุบลราชธานี รวมไปถึงผู้แทนจำหน่ายคูโบต้าในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อผลักดันให้อุบลราชธานีเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความพร้อมที่จะเป็นจังหวัดต้นแบบในการขับเคลื่อนโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) ภายใต้แนวคิด “อุบลราชธานี เมืองต้นแบบปลอดการเผา” นายวีรพงษ์

     ทั้งนี้เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในจังหวัดอุบลราชธานีครั้งนี้ได้วางเป้าหมายในการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่องค์ความรู้กระบวนการผลิตพืชโดยวิธีปลอดการเผา รวมถึงส่งเสริมระบบบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และยังตั้งเป้าหมายสร้างแปลงตัวอย่าง ร่วมกับเกษตรกรต้นแบบ ในการส่งเสริมวิธีการทำเกษตรปลอดการเผา เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในภาคการเกษตร ใน จ.อุบลราชธานีอีกด้วย

                                                                    สฤษดิ์ วิฑูรย์

      ด้านนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีประธานในพิธี เปิดเผยว่า จังหวัดอุบลราชธานี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการริเริ่มณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น โดยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จังหวัดอุบลราชธานี  จึงพร้อมร่วมมือกับสยามคูโบต้า ผลักดันโครงการเกษตรปลอดการเผา (Zero Burn) เพื่อตอบรับนโยบายงดการเผาในพื้นที่การเกษตรของภาครัฐ มุ่งแก้ไขปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ตั้งเป้าหมายในการลดการเผาในพื้นที่การเกษตรของจังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2565

          สยามคูโบต้ามุ่งมั่นที่จะผลักดันให้แนวคิดการทำเกษตรปลอดการเผาเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย ด้วยการขยายพื้นที่ความร่วมมือโครงการฯ ไปยังทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปปรับใช้และลงมือปฏิบัติจริงกับพื้นที่การเกษตรของตนเอง พร้อมส่งต่อความรู้ไปยังภาคการเกษตรทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมภาคเกษตรกรรมให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป