19 ภาคีเกษตรฮืออีกครั้ง อัดเต็มๆ “มนัญญา” ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน ชู “เฉลิมชัย”คนกลางเคลียร์แบน “พาราควอต”

  •  
  •  
  •  
  •  
19 ภาคีเกษตร ลุกฮืออีกครั้ง หลังจากผลบังคับให้เกษตรกรคืนสารเคมี “พาราควอต-คลอร์ไพรีฟอส” ให้กับร้านค้า สิ้นสุดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2563 ผ่านมา รุมอัด “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” ไม่มีความรู้และเมินเสียงเกษตรกรที่กำลังเดือดร้อน ถาม “กลูโฟซิเนต-สารชีวภัณฑ์” ปลอดภัยจริงหรือ ? ระบุการของบฯ ฉุกเฉินเป็นแนวคิดที่ล้าสมัยของการเมืองแบบโบราณ ประกาศสนับสนุนเต็มๆ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ให้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อยกเลิกการแบน 2 สารเคมีเกษตรเจ้าปัญหา ขณะที่ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติหยอดน้ำหวาน เผยเกษตรกร 10 ล้านคนจะขอสรรเสริญ และจะจดจำอีกนานเท่านาน  พร้อมร้องขอให้ สธ.-กรมปศุสัตว์ หยุดนำเข้าสินค้าที่ใช้พาราควอต จากต่างประเทศด้วย 
      วันที่ 31 สิงหาคม 2563 อีกครั้งที่เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจจาก 19 ภาคีเกษตร ประกอบด้วย สมาพันธ์เกษตรปอลดภัย สมาคมเกษตรปลอดภัย สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร สภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย
      ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กลุ่มเกษตรมันสำปะหลังแปลงใหญ่นครราชสีมา กลุ่มเกษตรกรมันสำปะหลังหนองบุญมาก-ครบุรี-เสิงสาง เครือข่ายเกษตรกรผลไม้จังหวัดจันทบุรี กลุ่มเกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โคราช นครสวรรค์ และลพบุรี ออกมาเครื่อนไหวให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหนังสือไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ยกเลิกการแบนสารเคมีเกษตร  “พาราควอตและคลอร์ไพรีฟอส” หลังจากมีผลบังคับให้เกษตรกรคืนให้กับร้านค้า ภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา
                                                                      สุกรรณ์ สังข์วรรณะ
 
    นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า  เกษตรกรกลุ่มพืชเศรษฐกิจ พร้อมสนับสนุน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อยกเลิกการแบนสารเคมีเกษตรเกษตร “พาราควอตและคลอร์ไพรีฟอส” เนื่องตอนนี้การจับกุมและปรับเงินเกษตรกรมีผลบังคับใช้แล้ว จึงขอให้รัฐมนตรียึดถือประโยชน์ของเกษตรกรและประเทศชาติเป็นสำคัญ เนื่องความเสียหายของเกษตรกรเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสารทางเลือกที่ราคาสูง ฆ่าหญ้าไม่ตายแต่พืชประธานตายทั้งอ้อยและมันสำปะหลัง ผลผลิตเสียหาย แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
      ด้านนายภมร ศรีประเสริฐ และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังโคราช กล่าวสนับสนุนว่า เกษตรกร ผิดหวังกับข้าราชการกรมวิชาการเกษตรและ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ  ที่ไม่มีความรู้และ เมินเสียงเกษตรกร ทั้งที่เกษตรกรเดือดร้อนจึงต้องออกมาคัดค้าน เนื่องจากเกษตรกรมองเห็นผลกระทบที่ชัดเจน ทุกพืชจำเป็นต้องใช้สารพาราควอตตลอดทั้งปี อยากถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะช่วยลดอย่างไร
      “อย่ามาบอกว่า ของบฯ จัดทำงบประมาณฉุกเฉิน เพราะเป็นความคิดล้าสมัยของการเมืองแบบโบราณ เป็นการใช้ภาษีประชาชนอย่างสิ้นเปลือง เกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังไม่มีสิทธิ์ใช้สารพาราควอต แต่กระทรวงสาธารณสุข และกรมปศุสัตว์กำหนดให้นำเข้าวัตถุดิบที่ปนเปื้อนพาราควอตได้ อย่างนี้ถือว่าจงใจทำร้ายเกษตรกรไทยอย่างชัดเจน” นายภมร กล่าว
         ส่วนที่นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ  พูดว่าจะเอาสารพิษกลับมาอีกทำไม ขอถามท่านว่า สารเคมีตัวไหนไม่เป็นสารพิษ สารชีวภัณฑ์มีการบุกตรวจจับกุมโดย ดีเอสไอ และกรมวิชาการเกษตร ก็พบว่ามีสารพาราควอต และไกลโฟเซตปนอยู่ สารกลูโฟซิเนตในสหภาพยุโรปก็แบนไปแล้ว สิ่งที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้ล้วนแต่เป็นสารพิษ
      เพราะฉะนั้นท่านต้องแบนกลูโฟซิเนต ไกลโฟเซต ไปด้วยเช่นกัน และหากนางสาวมนัญญา รวมถึงมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรต่างๆ ถ้าห่วงใยสุขภาพคนไทยจริง ก็ขอให้ช่วยฯ ไปคุยกับ คณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศหยุดการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีสารพารา ควอตและคลอร์ไพรีฟอสทันที ต้องไม่มีการตกค้างสารดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น 0.01 0.02 อะไร ก็ต้องไม่มี ไม่ควรปรับค่าเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนธุรกิจ และไม่มีการผ่อนปรนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 ไม่เช่นนั้น จะเป็นการปฏิบัติสองมาตรฐาน ความเป็นธรรมอยู่ที่ไหน? เพราะเมื่อแบนในประเทศแล้ว สินค้านำเข้าก็ไม่ควรจะมีการใช้สารทั้งสองชนิด
      ขณะที่นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิบัติสองมาตรฐาน หากแบนในประเทศ สินค้านำเข้าก็ไม่ควรที่จะตกค้างสองสารเคมีควรแบนเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ข้อมูลของสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาล ที่เก็บตัวอย่างวัตถุดิบและสินค้าที่มีการใช้พาราควอตในประเทศ ก็ตรวจไม่พบสารพาราควอตตกค้างเช่นกัน ดังนั้นคำกล่าวอ้างของนางสาวมนัญญา  และกระทรวงสาธารณสุขที่ห่วงใยสุขภาพคนไทยและผู้บริโภคจึงฟังไม่ขึ้น เป็นเพียงคำกล่าวอ้างเพื่อเอื้อนายทุน หากกระทรวงสาธารณสุขปรับกฎระเบียบว่า สินค้านำเข้าต้องตรวจไม่พบสารพาราควอต และคลอร์ไพรีฟอส ดังนั้นการที่วัตถุดิบและสินค้าในประเทศตรวจไม่พบสารตกค้างทั้ง 2 ชนิด เกษตรกรไทยก็ต้องมีสิทธิ์ใช้สารทั้งสองชนิดได้เช่นกัน
      “19 องค์กรเกษตรกร ขอสนับสนุน และสรรเสริญท่านรัฐมนตรีเฉลิมชัย ที่กล้าหาญ ส่งเรื่องถึงคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้ทบทวนการยกเลิกสารพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอส กล้าปลดแอกเกษตรกรจากการจำคุกสูงสุด 10 ปี และปรับสูงสุด 1 ล้านบาท ขอเพียงให้ท่านลงมือทำ เกษตรกรกว่า 10 ล้านคนทั่วแผ่นดินพร้อมสนับสนุน และเราจะจดจำท่านไปอีกนาน” นายเติมศักดิ์ กล่าว