ชาวสวนส้มเมืองแพร่กระอักหนัก โอดมรสุมกระหน่ำทุกด้าน พ่อค้าคนกลางกดราคาเหลือครึ่ง พิษโควิด-19 ตลาดท้องถิ่น ตลาดส่งออกเงียบเหมา แถมภัยแล้งซ้ำเติม ทำให้ผลผลิตเสียหายกว่า 20 % วอนสภาเกษตรกรจังหวัด ช่วยเป็นพี่เลี้ยงด่วน ให้สนุนด้า่นการแปรรูป การตลาด รวมถึงส่งเสริมการปลูกพืชชนิดอื่น ล่าสุดหัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดแพร่ลงพื้น เผยถึงจุดเด่นของส้มเขียวหวานเมืองแพร่ มีความพิเศษสุด ออกผลผลิต 3 ช่วง แต่ละช่วงมีรสชาตต่างกัน ระบุปัญหาที่เกิดขึ้นแก้ได้ไม่ทั่วถึง เพราะภาครัฐช่วยเฉพาะที่มีเอกสานสิทธิ์เพียง 4,000 ไร่เท่านั้น ขณะที่ปลูกจริงเฉพาะ 2 อำเภอ กว่า 1.7 หมื่นไร่
นายภูผา บัวบุญ หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ในอำเภอลอง และอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ มีส้มเขียวหวาน ที่เป็นผลไม้ขึ้นชื่อประจำถิ่น เป็นที่รู้จักกันมาไม่น้อยกว่า 50 ปี มีชื่อเสียงในด้านรสชาติดีที่ไม่เหมือนถิ่นอื่น คือ หวานกลมกล่อมและหวานอมเปรี้ยวในบางฤดู ผลใหญ่ กลมแป้น ผิวเนียน สีผิวเขียวอมเหลือง เส้นใยไม่ติดเนื้อ หรือส้มเปลือกล่อนเนื้อ สีเหลืองส้ม ฉ่ำน้ำ น้ำในผลสม่ำเสมอ เนื้ออวบเต้ง
ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกรวม 17,422 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 14,294 ไร่ จำนวนเกษตรกร 2,460 ครัวเรือน ผลผลิตจะออกสู่ตลาดปีละ 3 รุ่น รุ่นที่ 1 ช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม จะมีปริมาณมากที่สุด ส้มมีรสหวาน รุ่นที่ 2 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ปริมาณอยู่ในระดับปานกลาง ส้มมีรสหวานนำเปรี้ยว และรุ่นที่ 3 ช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม มีปริมาณน้อย และส้มมีรสเปรี้ยวนำ ซึ่งแต่ละปีผลผลิตจะออกมาพร้อมๆ กัน
นายภูผา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรขาดการวางแผนการผลิตต่างคนต่างขาย ตัดราคากันเองทำให้พ่อค้าคนกลางกดราคา ปัจจุบันส้มเขียวหวานเบอร์ใหญ่สุดคือ 000 , 00 และ 0 ซื้อในราคาเดียวกันที่ไม่เกินกิโลกรัมละ 20 บาท เบอร์ 1 ขายได้ราคา 10 บาท เบอร์ 2-3 ราคา 3 บาท และเบอร์ 4 ราคา 1 บาท ถึงแม้เกษตรกรชูส้มปลอดสารพิษเป็นจุดขาย แต่ราคาก็ยังไม่ขยับขึ้น ส้มขนาดใหญ่ที่เคยมีราคากิโลกรัมละ 20 ปัจจุบันลดต่ำลงเหลือไม่ถึงครึ่ง
“ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ยิ่งปีนี้รุนแรงกว่าเดิมด้วยสถานการณ์ภัยแล้งโดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 สวนส้มที่ไม่มีระบบน้ำดีพอ หรือขาดแหล่งน้ำต้นทุนไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงใบเหี่ยวแห้งเสียหายประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่ปลูกส้ม มีผลต่อคุณภาพผลผลิต เช่น ขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไปไม่สามารถนำเข้าตลาดได้ แม้ยังคงรสชาติดีเหมือนเดิมก็ตาม รวมทั้งราคาตกต่ำจากเฉลี่ยกิโลกรัมละ 30 บาท เหลือเพียง 10 บาทเท่านั้น” นายภูผา กล่าว
หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดแพร่ กล่าวต่อไปว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือการจัดการน้ำ ซึ่งตำบลนาพูนมีพื้นที่เกษตรจำนวนมาก แต่เป็นพื้นที่มีโฉนดเพียง 4,000 ไร่เท่านั้น ดังนั้นการช่วยเหลือด้านน้ำ อาทิ บ่อบาดาล บ่อน้ำตื้น อ่างเก็บน้ำ ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ก่อน เช่น พื้นที่ป่า ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมป่าไม้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สภาเกษตรกรจังหวัดแพร่ได้ลงพื้นที่และเปิดเวทีเพื่อรับฟังปัญหาเกษตรกรเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลนาพูน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นเวทีในการแสดงความเห็นนำเสนอปัญหาของเกษตรกร เช่น ปัญหาราคาตกต่ำ ขาดการรวมกลุ่ม ไม่มีการวางแผนการผลิต ภัยแล้งและโรคแคงเกอร์ที่มาพร้อมกัน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ปุ๋ยและสารเคมี พื้นที่ปลูกไม่มีเอกสารสิทธิ์ ผลผลิตเก็บได้ไม่นาน เป็นต้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบปัญหาและช่วยป้องกัน/แก้ไขได้ตรงจุด โดยสภาเกษตรกรจังหวัดแพร่ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรต่อไป
ด้าน นายสมบูรณ์ ล่ายวน อายุ 64 ปี เกษตรกรเจ้าของ “สวนแม่แขมหลง” เปิดเผยว่า เริ่มทยอยปลูกส้มสวนนี้ตั้งแต่ปี 2536 รวมทั้งปลูกต้นสักทอง 2 พันกว่าต้น ข้าวโพด ประมาณ 4 ไร่ เลี้ยงวัว พื้นที่ประมาณ 32 ไร่ ปลูกส้มประมาณ 12 ไร่ เป็นส้มสีทอง รสชาติหวานอร่อยท้าให้ชิมยิ่งอายุ 11 เดือนขึ้นไป อร่อยทุกลูกแน่นอน มีพ่อค้าต่างถิ่นลงทุนมาซื้อถึงสวนบอกนำไปคั้นสดลูกค้าติดใจ ขายดี
ทั้งนี้ ปัญหาส้มที่เกิดขึ้นหนักสุดคือภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง บวกกับปัญหาไวรัสโควิด-19 ระบาดปีนี้ ราคาร่วงมากจะเก็บผลผลิตเอาไว้ก็ยื้อไม่ไหวงอมจัดลม/ฝนมาก็ร่วงหมดไม่ได้ขาย พยายามหาตลาดโดนกดราคา ส้ม 20 ลัง ขายได้แค่ 2 พันกว่าบาท ไม่คุ้มกับค่าแรง/ค่าน้ำมัน ตลาดท้องถิ่นปิดเช่นเดียวกับตลาดต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย ซึ่งในความเป็นจริงในการทำสวนส้มนั้นไม่ได้ขายแค่ผลสดอย่างเดียว ที่สวนยังตอนกิ่งพันธุ์ ชำกับพื้นดินจำหน่ายด้วย
“ที่สวนเราขายต้นกล้าด้วย อย่างลำต้นเท่านิ้วก้อย สูงประมาณ 50-60 เซนติเมตร ขายราคากิ่งละ 50 บาท รอบหนึ่งผลิตได้ประมาณ 100-200 กิ่ง แต่ก็ไม่พอขาย หากตอนกิ่งชำส้มขายอย่างเดียวไม่รวยก็มีเงินใช้แน่นอน แต่ถึงกระนั้นก็อยากให้สภาเกษตรกรจังหวัดแพร่ เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงเรื่องของการแปรรูป การตลาด การอบรมให้ความรู้ ด้วยพืชเศรษฐกิจ ผัก ผลไม้ ยางพารา อื่นๆต่างก็มีพี่เลี้ยง มีตัวช่วย แต่ส้มนั้นไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาดูแลช่วยเหลือ สภาเกษตรกรเป็นปากเสียงตัวแทนของเกษตรกรจึงหวังพึ่งต่อไป” นายสมบูรณ์ กล่าว