ได้ฤกษ์ เนรมิตพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ยึดจากนายทุน ทำ “กระบี่สมาร์ทซิตี้ เมืองทันสมัยใส่ใจสิ่งแวดล้อม” 

  •  
  •  
  •  
  •  

“ธรรมนัส” เบิกฤกษ์ล้มต้นปาล์มน้ำมัน ที่ยึดจากนายทุนกว่า 3,600 ไร่ในพื้นที่ ส.ป.ก. เตรียมแบ่งเป็น 4 โซน “ที่อยู่อาศัย-แปลงเกษตรกรรม- อนุรักษ์และการท่องเที่ยว-พื้นที่ส่วนกลาาง” เนรมิตทำเป็น “กระบี่สมาร์ทซิตี้ เมืองทันสมัยใส่ใจสิ่งแวดล้อม” 

     วันที่ 29 มิถุนายน 2563  ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมช.กษ) ลงพื้นที่เป็นประธานในการโค่นสับและล้มต้นปาล์มน้ำมัน และปรับพื้นที่ ในพื้นที่เป้าหมายตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 แปลง No 601 ท้องที่ ต.กระบี่น้อย อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ เพื่อรองรับการจัดที่ดินให้ชุมชนให้กับเกษตรกรตามนโยบายรัฐบาล โดยมี พ.ต.ท.ม.ล.กิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวต้อนรับ  และ ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวบรรยายสรุป

      ร้อยเอก ธรรมนัส เผยว่า ที่ดินแปลงนี้เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งที่มีการถือครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  และยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เนื้อที่ประมาณ 973 ไร่ ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคม 2562 เลขาธิการ ส.ป.ก.ได้อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 36/2559 กำหนดพื้นที่แปลงนี้ เป็นพื้นที่เป้าหมาย ยึดคืนจากผู้ถือครองที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และ ส.ป.ก.กระบี่ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและระยะเวลา ที่กฎหมายกำหนดเพื่อยึดคืนพื้นที่ โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ผู้ครอบครองที่ดินได้มีหนังสือส่งมอบพื้นที่กลับคืนแก่ ส.ป.ก. และ ส.ป.ก. ได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบเพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่ ตามแนวทาง “กระบี่สมาร์ทซิตี้ เมืองทันสมัยใส่ใจสิ่งแวดล้อม” รองรับการจัดที่ดินทำกินให้แก่ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล

       ด้าน ดร.วิณะโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่เป้าหมายแปลงหมายเลข 601 เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ ส.ป.ก. ได้ยึดคืน มาจากผู้ถือครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย รายบริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มจำกัด (มหาชน) โดย ส.ป.ก. ได้แยกการดำเนินการออกเป็น 4 พื้นที่ ดังนี้

      1. พื้นที่ที่ คปจ.กระบี่ มีมติให้ยกเลิกการจัดที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 3.617-1-56 ไร่ เดิม คปจ.กระบี่ ในการประชุมครั้งที่ 2/2542  เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 ได้มีมติอนุญาตให้บุคคล เข้าทำประโยชน์ จำนวน 92 ราย 92 แปลง เนื้อที่ประมาณ 4.159-2-60  ไร่

       ภายหลังตรวจสอบพบว่าบุคคล ทั้ง 92 ราย ไม่ได้ครอบครองที่ดินด้วยตนเอง คปจ.กระบี่ ในการประชุมครั้งที่ 1/2559  เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559  จึงมีมติยกเลิกการจัดที่ดิน ต่อมาทำการสำรวจรังวัดใหม่ได้เนื้อที่ประมาณ 3.617-1-56 ไร่ โดยคณะทำงานแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ได้มีมติให้ฟ้อง คดีความแพ่งขับไล่และเรียกค่าเสียหายกับบริษัท ขณะนี้ได้จัดทำแผนที่พิพาทแล้วอยู่ระหว่างการคิดคำนวณค่าเสียหายในการฟ้องคดีต่อไป ปัจจุบันมีผู้บุกรุกครอบครองพื้นที่จำนวน 8 กลุ่ม มวลชนประมาณกว่า 900 ราย

       2. พื้นที่ที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน เนื้อที่ประมาณ 682-3-51 ไร่ ปัจจุบันได้ประกาศกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 36/2559 แปลงหมายเลข 602 และอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดเพื่อยึดคืนพื้นที่ให้ได้โดยเร็วต่อไป

       3. พื้นที่ประกาศใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 36/2559  แปลงหมายเลข 601 เนื้อที่ประมาณ 973-1-83 ไร่ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 บริษัทได้มีหนังสือแสดงเจตนาส่งมอบการครอบครองที่ดินคืนให้แก่ ส.ป.ก. และขนย้ายทรัพย์สินรวมทั้งบริวารของบริษัทออกไปจากที่ดิน ในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ต่อมา ส.ป.ก. ได้ดำเนินการตัดสรรงบประมาณในการดำเนินการปรับพื้นที่ล้มและสับต้นปาล์มน้ำมันเพื่อเตรียมส่งมอบพื้นที่ให้แก่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) พิจารณาดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้แก่ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลต่อไป ,และ   4. พื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ที่บริษัทมีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์

    เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวต่อไปว่า ภายหลังจากการล้มและสับปาล์มน้ำมัน และปรับพื้นที่แปลง No 601แล้วนั้น ส.ป.ก. จะดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาพื้นที่ในแนวคิด “กระบี่สมาร์ทซิตี้ เมืองทันสมัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” โดยมีแนวทางการดำเนินงาน แบ่งพื้นที่เป็น 4 โซน ได้แก่

      โซนที่อยู่อาศัย จะทำการจัดที่ดินให้เกษตรกรรายละไม่เกิน 2 งาน โดยมีที่อยู่อาศัยและแปลงเกษตรกรรม เพื่อทำการเกษตรแบบผสมผสาน ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบพึ่งพาตนเองได้

     โซนแปลงเกษตรกรรม จะแบ่งออกเป็น ผลิตพืช (ปลูกพืชผักที่ MOU กับผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นแหล่งผลิตอาหารของจังหวัด ปลูกผักตัดยอด พืชสมุนไพร ผักกางมุ้ง ฝรั่ง มะละกอ ผลไม้) แปลงใหญ่เพื่อการค้า (ตลาดนำการผลิต) มาตรฐาน GAP PGS เกษตรอินทรีย์, ผลิตข้าวไร่ประจำท้องถิ่น ได้แก่ พันธุ์หอมแดง หอมหัวบอน หอมเจ็ดบ้าน ดอกพะยอม ดอกข่า ฯลฯ, ผลิตปศุสัตว์ (แพะ โค สัตว์ปีก ผึ้งโพรง จิ้งหรีด) และด้านประมง (กบ ปลา หอย)

       โซนอนุรักษ์และการท่องเที่ยว จะให้ดำเนินการในรูปแบบเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น (จุด Check in นวด/สปา/อบตัวสมุนไพร) จัดการระบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน พร้อมทั้งส่งเสริมการ ใช้พลังงานสีเขียวและพลังงานสะอาด ผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นแหล่งพลังงานที่ได้จากธรรมชาติรอบตัวเราสามารถสร้างทดแทนได้ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังน้ำ พลังงานชีวมวล เป็นต้น ถือเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดโลกร้อน ตลอดจนการอนุรักษ์ป่าชุมชน (ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ เพื่อเป็นการรวบรวมพืชท้องถิ่นและแหล่งอาหารของชุมชน)

         โซนพื้นที่ส่วนกลาง จะให้ดำเนินการจัดตั้งที่ทำการสหกรณ์และศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์ฝึกอาชีพ พร้อมทั้งจัดสร้างอาคารรวบรวมผลผลิต การแปรรูป การเก็บรักษา ร้านค้าสหกรณ์ ตลาดชุมชน ศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรม แปลงเรียนรู้ สาธิตการเกษตรเชิงท่องเที่ยวและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจน ให้มีศูนย์กีฬา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์บริการด้านสุขภาพ โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ เช่น การบริหารจัดการน้ำ สภาพอากาศ การบริหารจัดการขยะ/ของเสีย และการเฝ้าระวังภัยพิบัติ ฯลฯ

      “ส.ป.ก. ปฏิบัติงานตามเจตนารมณ์ของกฎหมายปฏิรูปที่ดินอย่างเต็มความสามารถ ผ่านวิธีการปฏิรูปที่ดิน
ที่มุ่งหมายจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การปรับปรุงทรัพยากรและปัจจัยการผลิต รวมถึงการผลิตและการจำหน่ายให้เกิดผลดียิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการเร่งแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรและผู้ยากไร้ให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง เมื่อมีที่ดินแล้ว ก็สามารถทำกินบนผืนดินส.ป.ก. ได้อย่างมีความสุขตลอดไป” เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าว