ก.เกษตรกรฯประเมินสถานการณ์ผลผลิตไม้ผล 3 ภาคปีนี้มากกว่าปีที่แล้ว

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ ประเมินสถานการณ์การผลิตไม้ผล ปี 2563 ทั้ง 3 ภาค “ตะวันออก- ภาคเหนือ-ภาคใต้” คาดมีผลผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2562  พร้อจัดทำแผนบริหารจัดการ ทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

       เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม  2563 ได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้มีการรายงานสถานการณ์การผลิตไม้ผล ปี 2563 (ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคใต้) โดยสำนักงานเศษฐกิจการเกษตร (สศก.)ได้คาดการณ์ข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือ ปี 2563 (ข้อมูล ณ วันที่ 16 เม.ย. 63) ได้แก่ ลำไย (8 จังหวัด) และลิ้นจี่ (4 จังหวัด) จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปี 2562 โดยลำไย จะมีผลผลิต 662,132 ตัน แบ่งเป็น ผลผลิตในฤดู 411,299 ตัน และผลผลิตนอกฤดู 250,833 ตัน   ลิ้นจี่ จะมีผลผลิต 28,676 ตัน

     ส่วนข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก ปี 2563 (ข้อมูล ณ วันที่ 26 มี.ค. 63) ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปี 2562 โดยทุเรียน จะมีผลผลิต 550,035 ตัน มังคุด จะมีผลผลิต 212,345 ตัน เงาะ จะมีผลผลิต 210,637 ตัน และลองกอง จะมีผลผลิต 22,484 ตัน 

        ไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ ปี 2563 (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มี.ค. 63) ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง คาดว่าทุเรียนจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่มังคุด เงาะ และลองกอง จะมีผลผลิตลดลงจากปี 2562 โดยทุเรียน จะมีผลผลิต 560,675 ตัน มังคุด จะมีผลผลิต 167,252 ตัน เงาะ จะมีผลผลิต 66,368 ตัน และลองกอง จะมีผลผลิต 70,742 ตัน

     อย่างไรก็ตาม ได้มีการจัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) และภาคเหนือ ปี 2563 โดยภาคตะวันออกดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จันทบุรี ระยอง และตราด ส่วนภาคเหนือ (ลิ้นจี่) ดำเนินการในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ พะเยา น่าน เชียงราย และเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้ทุกจังหวัดได้จัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จภายในจังหวัด ทั้งในเชิงคุณภาพสอดคล้องตามยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2558 – 2564 และในเชิงปริมาณโดยจัดสมดุลอุปสงค์ อุปทาน มีการบริหารจัดการเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณครอบคลุมระยะก่อนเก็บเกี่ยว ระยะเก็บเกี่ยว และระยะหลังการเก็บเกี่ยว ในทิศทางเดียวกัน