“ปักษ์ใต้บ้านเรา” เหลือฝน 4 แดด 8 จะจัดการรับมือกับภัยแล้งอย่างไร?

  •  
  •  
  •  
  •  

   

   “การเสริมธาตุอาหารโปแตสเซียม ซิลิกอน อ๊อกซิน จิ๊บเบอเรลลิน ไซโตไคมิน และกรดแอบไซซิด จะช่วยให้พืชทนแล้งได้มากขึ้นเช่นกัน” 

    ฝน 8 แดด 4 ยังเป็นวลีที่หมายถึงสภาพดิน ฟ้า อากาศ ที่ยังคงทำให้ภาคใต้อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ ธัญญาหารไม้ผลนานาชนิดจริงอยู่หรือ ผู้เขียนได้คำตอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต ที่ 8 ( สวพ.8) จังหวัดสงขลาว่า ปัจจุบันน่าจะเหลือฝน 4 แดด 8 มากกว่า

    “ในช่วงหลังๆนี้ภาคใต้ฝนมักจะตกเดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม ส่วนเดือนอื่นๆมีตกประปราย นอกนั้นจะเป็นช่วงแล้งเสียมากกว่า” เป็นการบอกเล่าของ นายธัชธาวินท์ สะรุโณ นักวิชาการเกษตรเชี่ยวชาญ เล่ามา

      ข้าวพื้นเมืองที่เก็บในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ (2563) ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับไม้ผล ยางพารา ปาล์ม แล้งยาวต่อไปถึงเดือนเมษายน ไม้ผลในเขตที่ไม่มีการให้น้ำจะได้รับผลกระทบแน่นอน

     นายธัชธาวินท์ บอกว่า ผลกระทบจากการขาดน้ำจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับแต่ละชนิดของพืชด้วย ความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่ส่งมายังใบพืช ทำให้ใบพืชมีอุณภูมิสูงขึ้น และลมที่พัดแรง ล้วนทำให้รูเปิดปากใบพืชเปิดมากขึ้น ทำให้มีการคายน้ำมากขึ้น และเมื่อใดที่ดินมีความชื้นน้อย น้ำไม่พอต่อความต้องการของพืช การเหี่ยวของพืชก็จะเร็วขึ้นด้วย

ภาพจำลองปากใบพืช

      ผู้เชี่ยวชาญรานี้ อธิบายว่า ราก ลำต้น ใบ มีท่อน้ำเชื่อมต่อกัน รากจะดูดน้ำขึ้นสู่ลำต้น สู่ใบ เมื่อน้ำไม่พอพืชจะเหี่ยวเฉา ใบพืชจะมีปากใบเหมือนประตูเปิด ปิดน้ำ ตามปกติปากใบจะเปิด และจะมีการคายน้ำออกไปในรูปของไอน้ำ บริเวณรูเปิดปากใบ จะมีท่อลำเลียงน้ำที่ต่อกับลำต้นและราก เมื่อน้ำจากเซลส์ใบถูกคายออกไป ทำให้เซลส์ใบเหี่ยวลง ก็จะเกิดแรงดึงดูดน้ำจากท่อลำเลียงน้ำ เป็นผลให้น้ำเคลื่อนย้ายจากลำต้นเข้าสู่ใบ เมื่อน้ำในลำต้นน้อยลง รากพืชต้องดูดน้ำจากดินเพิ่มขึ้น หมุนเวียนกันไปแบบนี้อย่างมีสมดุล คือ พืชจะดูดน้ำจากดินเข้าสู่ลำต้น และไปสู่ใบ เมื่อพืชไม่ได้รับน้ำการดูดน้ำขึ้นไปเลี้ยงลำต้นก็ไม่มี ใบจึงเหี่ยวเฉา

 

3 วิธีการจัดการน้ำในดินให้มีความชื้นในช่วงหน้าแล้ง

          เขา  อธิบายต่อไปว่า เกษตรกรต้องจัดการพืชให้คายน้ำน้อยๆ จัดการธาตุอาหารให้พืชพร้อมรับการขาดน้ำ และ จัดการพืช โดยเฉพาะไม้ผลให้พร้อมรับภาวะแห้งแล้ง โดยจัดการดังนี้

         1.ป้องกันการละเหยของน้ำในดินโดยการคลุมโคนต้นพืชด้วยเศษพืช ซังข้าว หรือใช้พลาสติกปลูกพืช ได้ตามความเหมาะสมหรือเป็นการให้ร่มเงาเพื่อเป็นการลดแสงแดดที่ส่งลงมายังผิวดินวิธีการดังกล่าวนี้จะช่วยให้สามารถเก็บน้ำในดินไว้ได้นาน และควรผสมผสานกับวิธีการให้น้ำแบบที่ประหยัดน้ำ เช่น ให้เฉพาะจุดเฉพาะต้น

         2.การลดการระเหยน้ำของใบพืช ประการแรกลดอุณหภูมิ ลดรังสีความร้อนของดวงอาทิตย์ที่ลงสู่พืช เนื่องจากเมื่อใบไม้ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ อุณหภูมิใบจะสูงขึ้น ใบก็จะคายน้ำมากขึ้นตามไปด้วย โดยอัตราการคายน้ำจะเพิ่มขึ้นสองเท่า ในทุกๆ 10 องศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้นและ แต่ถ้าอุณภูมิสุงเกิน 30 องศาเซลเซียส ปากใบจะปิด ขณะเดียวกันถ้าอุณภูมิต่ำมาก ปากใบก็จะปิดเช่นกัน

          ประการที่สอง ต้องรักษาความชื้นรอบๆต้นพืชไม่ให้แตกต่างกับความชื้นของใบพืชเพราะ เมื่ออากาศร้อน ต้นพืชแห้ง หรือในช่วงที่บรรยากาศมีความชื้นน้อย ทำให้การคายน้ำเกิดได้มากและรวดเร็ว

          ประการที่สาม หาทางที่จะลดกระแสลมปะทะใบ เพราะเมื่อใบโดนลมก็จะทำให้ไอน้ำที่ผิวใบระเหยออกไป การคายน้ำก็จะสูงขึ้น  แต่ถ้าลมพัดแรงมากๆ ปากใบจะปิดอัตราการคายน้ำจะลดลง

วิธีบำรุงพืชให้มีรากสมบูรณ์ รากลึก และแผ่ขยาย

          ผู้เชี่ยวชาญ ธัชธาวินท์ ยังอธิบายต่อไปอีกด้วยว่า การจัดการพืชให้พร้อมรับภัยแล้งในอีกวิธีหนึ่งคือการบำรุงพืชให้มีรากสมบูรณ์ รากลึก และแผ่ขยาย เพื่อให้รากมีความสามารถในการดูดน้ำได้มากขึ้น ซึ่งจะต้องดูแลทั้งพืชและจัดการดินให้ร่วนซุย ตลอดจนการเลือกพันธุ์พืชที่ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง และใช้น้ำน้อย หรือจัดรูปแบบการปลูกที่เหมาะสม เช่น ปลูกผักแบบมีหลังคา ใช้สแลนพรางแสง เหล่านี้เป็นต้น

          การใส่ปุ๋ยชีวภาพ (เช่น พีจีพีอาร์ของกรมวิชาการเกษตร) จะช่วยให้พืชเพิ่มความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากแบคทีเรียจะทำให้พืชมีรากที่สมบูรณ์ และยังช่วยให้เกิดฮอร์โมนที่ทำให้พืชทนแล้งมากขึ้น

          นอกจากนั้น ยังพบว่า การเสริมธาตุอาหารโปแตสเซียม ซิลิกอน อ๊อกซิน จิ๊บเบอเรลลิน ไซโตไคมิน และกรดแอบไซซิด จะช่วยให้พืชทนแล้งได้มากขึ้นเช่นกัน

          การจัดการรับมือภัยแล้ง ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นการอธิบายหลักการพื้นฐานทางสรีระวิทยาของพืช ที่เกษตรกรสามารถนำหลักการนี้ไปประยุกต์วิธีการที่เหมาะสมซึ่งต้องรู้เขารู้เรา รู้จักดิน รู้จักพืชว่าต้องการอะไร ใบพืชต้องการอะไร เป็นเรื่องไม่ยาก แต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่เกษตรกรควรรู้ เพื่อที่จะไดไม่สูญเสียพืชที่เราตั้งใจปลูก เพื่อคอยผลผลิต ต่อให้เป็นฝน 4 แดด 8 ก็ไม่ต้องกลัว

          สนใจรายละเอียดสอบถามและปรึกษาได้ที่ สำนักวิจัยพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 (สวพ.8)จังหวังสงขลา  กรมวิชาการเกษตร  โทร 074-445905