กรมชลฯสุดปลื้ม!!สิ้นสุดฤดูแล้งแล้ว มีน้ำใช้ตลอด ขอบทุกภาคส่วนที่ร่วมใช้น้ำอย่างประหยัด

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                                      ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล

กรมชลประทาน สุดปลื้ม!! ขอบคุณทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่วางไว้ ทำให้มีการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งที่ผ่านมา เผยจากนี้เตรียมพร้อมเดินหน้ารับมือฤดูฝนที่กำลังจะมาเยียนอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

     ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ วันที่ 30 เม.ย. 63 มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 35,421 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ประมาณ 11,742 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,649 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,953 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ นับเป็นวันสิ้นสุดของ การส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งของกรมชลประทาน ที่เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย. 62 – 30 เม.ย. 63 และจากนี้ไปจะเริ่มเข้าสู่การส่งน้ำในช่วงต้นฤดูฝน

      สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศ พบว่า ณ วันที่ 30 เม.ย. 63 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งของกรมชลประทาน มีการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งที่ผ่านมารวมทั้งสิ้นประมาณ 17,053 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น ร้อยละ 96 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งรวมทั้งสิ้นประมาณ 4,595 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 102 ของแผนฯ ถือได้ว่าการใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่วางไว้

      ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวถึงผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ว่า ทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกรวมทั้งสิ้น 4.75 ล้านไร่(แผนวางไว้ 2.83 ล้านไร่) เก็บเกี่ยวแล้ว 1.88 ล้านไร่ แยกเป็นข้าวนาปรัง 4.21 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 3 ล้านไร่ และพืชไร่-พืชผัก 0.54 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 0.27 ล้านไร่

     เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน แต่จากการสำรวจพบว่ามีการทำนาปรังประมาณ 1.98 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.85 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองทำการเพาะปลูก

       ในส่วนของการดำเนินการจัดจ้างแรงงานชลประทานทั่วประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง จนถึงขณะนี้มีผู้เข้าร่วมรับการจ้างงานกว่า 28,000 รายแล้ว ซึ่งโครงการชลประทานทุกแห่ง ยังคงเดินหน้าจัดจ้างแรงงานอย่างต่อเนื่องให้ครบตามเป้าหมาย เกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามหรือสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชน