พิษ”โควิด”ราคาปาล์มฯร่วง คนใช้ B100 น้อยลง ร้านอาหารปิด น้ำมันขวดยอดขายฮวบ 40%

  •  
  •  
  •  
  •  

วัฒนพงษ์ คุโรวาท

สนพ. ชี้พิษการระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ราคาปาล์มน้ำมันดิบราคาตกต่ำ ระบุคนคนใช้ B100 ลดน้อยลง  20-25% ที่น้ำมันปาล์มขวดสำหรับการบริโภคยอดขายหายไป 30-40% เพราะร้านอาหารส่วนใหญ่ปิดให้บริการ  แต่ “เอทานอล” โชคดีราคาปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยภัยแล้ง และนำไปทำแอลกอฮอล์ล้างมือ ล้างพื้นและผลิตเจล เผยช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563  มีปริมาณเอทานอลแปลงสภาพที่นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือมากกว่า 25 ล้านลิตร

      นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยว่า จากการที่ สนพ. ได้ติดตามสถานการณ์ราคาผลปาล์มน้ำมันระหว่างวันที่ 20-24 เม.ย. 63 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.70-3.00 บาทต่อกก. ราคาน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 20.00 – 23.00 บาทต่อกก. ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนโดยราคาวัตถุดิบลดลงไปจากสัปดาห์ก่อนเกือบ 3 บาทต่อกก. ตลาดยังค่อนข้างผันผวนจากปริมาณการใช้ที่ลดลงและผลกระทบเนื่องจากไวรัส โควิด-19 ทำให้ปริมาณยอดการผลิตและการจำหน่ายราคาไบโอดีเซล หรือ B100 ลดกำลังการผลิตไปประมาณ 20-25% จากยอดขายเดิม จากความต้องการใช้รถส่วนบุคคล รถสาธารณะ และนักท่องเที่ยวลดลง ส่วนแนวโน้มราคา B100 ราคาอ้างอิงวันที่ 27 เม.ย.- 3 พ.ค. 63 อยู่ที่ 25.26 บาทต่อลิตร ลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.77 บาทต่อลิตร

       เช่นเดียวกับยอดการจำหน่ายน้ำมันปาล์มขวดจะลดไปถึง 30-40 % จากที่ผลิตเดือนละ 1.2 แสนตัน ปัจจุบันเหลือแค่ 6-7 หมื่นตัน โดยราคาน้ำมันขวดขายปลีกปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 38 บาทต่อลิตร ลดลงมา 2 บาทต่อลิตร จากช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากการบริโภค ร้านอาหารต่างๆ ก็ยังปิดให้บริการ เหลือแต่บริการรับส่งอาหารเท่านั้น

         สำหรับปริมาณสต๊อกคงเหลือหักน้ำมันปาล์มดิบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต( กฟผ.)ที่จะใช้สำหรับผลิตไฟฟ้าเมื่อสิ้นเดือน มี.ค.63 ที่ผ่านมา มีประมาณ 169,046 ตัน ส่วนสต๊อกน้ำมัน B100 เมื่อสิ้นเดือน มี.ค. 63 เหลือประมาณ 100.39 ล้านลิตร

        นายวัฒนพงษ์ กล่าวถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกด้วยว่า  ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตลาดน้ำมันดีเซลในภูมิภาคเอเชียยังคงซบเซา ประกอบกับรายงานตัวเลขส่งออกน้ำมันของจีนในเดือนมี.ค.63 ปรับเพิ่มขึ้น ตามอุปสงค์ในประเทศจีนที่ลดลง ในส่วนประเทศมาเลเซียเอง การส่งออกน้ำมันไบโอดีเซลลดลงถึง 50% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน และราคาวัตถุดิบ CPO ที่ตลาดมาเลเซียอยู่ที่ 16.43 บาทต่อกก.

        ทางด้านสถานการณ์ราคาเอทานอลอ้างอิงเดือนเม.ย. 63 อยู่ที่ 23.28 บาทต่อลิตร ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.67 บาทต่อลิตร จากปัจจัยที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นราคามันสำปะหลังที่ปรับสูงขึ้น จากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลงจากปัญหาภัยแล้ง และโรคใบด่าง ในขณะที่ความต้องการมันสำปะหลังภายในประเทศก็มีแนวโน้มปรับตัวมากขึ้น รวมถึงราคากากน้ำตาลที่ปรับสูงขึ้น จากผลผลิตที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งปริมาณความต้องการใช้ในการขอนำเอทานอลไปทำเป็นแอลกอฮอล์ในการทำความสะอาดและแอลกอฮอล์เจลในช่วงสถานการณ์โควิด-19

      ปัจจุบันโรงงานเอทานอล จำนวน 27 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 6.125 ล้านลิตร/วัน มีปริมาณการใช้เอทานอลในเดือน มี.ค. และ เม.ย. ลดลงจากมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ทำให้การใช้รถยนต์ในการเดินทางลดลง ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ลดลงตามไปด้วย ส่วนปริมาณเอทานอลแปลงสภาพที่นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือมีจำนวนกว่า 25 ล้านลิตร