อลงกรณ์ พลบุตร
วิกฤต ”โควิด-19” พ่นพิษ เจ้าของสวนมะม่วงส่งออกกระทบเต็มๆ พ่อค้าคนกลางงดซื้อ อ้างด่านชายแดนปิด ส่งออกตลาดเกาหลี ญี่ปุ่น และยุโรป บางสายการการระงับการขนส่ง ส่วนที่ส่งได้เพิ่มค่าใช้จ่ายจากเดิม กก.ละ 20 บาท เป็น 80 บาท กระทรวงเกษตรฯ ชวนส่วนราชการ และประชาชนช่วยอุดหนุนมะม่วงคุณภาพดี เป็นของขวัญ ของฝาก หวังช่วยเหลือเกษตรกร
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีการรายงานสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 มีมะม่วงที่ผลิตเพื่อการส่งออกด้วย ผู้รับซื้อมะม่วงเกรดคุณภาพเพื่อการส่งออกหยุดรับซื้อไป เนื่องจากไม่สามารถส่งออกได้ โดยเฉพาะตลาดเกาหลี ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งปกติจะส่งมะม่วงโดยการขนส่งทางอากาศ แต่มีการระงับการขนส่งทางอากาศบางเที่ยวบิน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดิม 20 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 80 บาทต่อกิโลกรัม ทางนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรประสานผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระจายสินค้า 2 – 3 แห่ง ในการช่วยเหลือเกษตรกรจากผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ในปัจจุบัน
จากการประสานงานบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ยินดีลดค่าขนส่งข้ามจังหวัด และได้เสนอโครงการ “ซื้อมะม่วงฝากหมอ” เพื่อเป็นการทำ CSR ของกระทรวงเกษตรฯ อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการกระจายสินค้า และเปิดโอกาสให้ประชาชนซื้อมะม่วงคุณภาพส่งออกส่งให้โรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์และพยาบาลเป็นขวัญกำลังใจ นอกจากนี้ ยังให้เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรคัดเลือกสินค้าและแนะนำเกษตรกรให้เปิดขายสินค้าออนไลน์ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ผ่านช่องทางต่าง ๆ และจัดทำโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมสินค้ามะม่วง ภายใต้แนวคิดให้ส่วนราชการและประชาชนช่วยกันซื้อมะม่วงคุณภาพดีไปเป็นของขวัญของฝาก เป็นต้น
ด้านนายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลสถิติรายสินค้าของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรล่าสุด ปี 2561 รายงานว่า พื้นที่ปลูกมะม่วงของประเทศไทยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1.97 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 3.12 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,583 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนการผลิต 5.42 บาท/กิโลกรัม ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 29.75 บาท/กิโลกรัม ฤดูการผลิตมะม่วง ปริมาณการส่งออก 117,472 ตัน มูลค่าส่งออก 4,385 ล้านบาท
ส่วนการส่งออกมะม่วงสดอบไอน้ำไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตลาดหลักเกรดพรีเมี่ยม ปี 2562 มีปริมาณการส่งออก 12,136.70 ตัน มูลค่า 1,261.70 ล้านบาท โดยในช่วงฤดูกาลผลิตมะม่วง (เมษายน – มิถุนายน) ส่งออกได้ปริมาณ 6,327 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 52.13 มูลค่า 613.58 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 48.63 โดยมีโรงอบไอน้ำที่รองรับได้จำนวน 7 โรง
ข้อมูลส่งออก ปี 2563 (มกราคม – กุมภาพันธ์) ส่งออกได้ปริมาณ 1,901.82 ตัน มูลค่า 168.91 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2562 ในช่วงเวลาเดียวกันพบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 (ปี 2562 ปริมาณ 1440.69 ตัน) และ 4.83 (ปี 2562 มูลค่า 161.12 ล้านบาท) ตามลำดับ ซึ่งทางนายมนตรี ศรีนิล นายกสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย แจ้งว่า สถานการณ์มะม่วง ปี 2563 เกิดปัญหาการส่งออกเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการเกิดวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 ทำให้มีการปิดด่านมาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว เวียดนาม ที่เป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตมะม่วงหลัก โดยเฉพาะเกรดรองไม่สามารถดำเนินการซื้อขายได้โดยปกติ ประกอบกับมะม่วงที่จะส่งออกไปทางเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นที่เป็นเกรดคุณภาพดีก็มีค่าระวางเครื่องบินสูงมาก ทำให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนที่สูงการซื้อขายมะม่วงเกิดการหดตัวเป็นอย่างมาก ซึ่งฤดูกาลผลิตมะม่วงในฤดูขณะนี้ก็ใกล้เข้ามาถึงระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน (3 เดือน) คาดว่าจะมีมะม่วงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ผลผลิตไม่สามารถส่งออกได้
สำหรับพื้นที่ผลิตมะม่วงที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญของประเทศไทยที่จะประสบปัญหา จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย น่าน ลำพูน และเชียงใหม่ มีผลผลิตประมาณ 300,000 ตัน ผลผลิตรวม 360,000 ตัน โดยมีผลผลิตในฤดูที่จะเก็บเกี่ยวในระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน (3 เดือน) จำนวน 180,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 และคาดว่าจะมีผลผลิตที่ออกมามากในช่วงกลางเดือนเมษายน – กลางเดือนพฤษภาคม จำนวน 80,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 44.44
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมะม่วงในช่วงวิกฤตการณ์ดังกล่าว โดยราคามะม่วงหน้าสวนขณะนี้พบว่า มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองอยู่ที่ 17 บาท/กิโลกรัม มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์สี่ 12 บาท/กิโลกรัม ฟ้าลั่น 5 บาท/กิโลกรัม โชคอนันต์ 6 บาท/กิโลกรัม มหาชนก 12 บาท/กิโลกรัม และอาร์ทูอีทู 25 บาท/กิโลกรัม เป็นต้น
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรที่ได้ดำเนินการตามระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตั้งแต่ปี 2559 – 2561 มีมะม่วงแปลงใหญ่ในพื้นที่ 10 จังหวัด ที่คาดว่าผลผลิตจะล้นตลาดไม่สามารถส่งออกได้ในช่วงระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ จำนวน 2 แปลง ขอนแก่น 2 แปลง กาฬสินธุ์ จำนวน 4 แปลง อุดรธานี จำนวน 4 แปลง และภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร จำนวน 4 แปลง พิษณุโลก จำนวน 5 แปลงเพชรบูรณ์ จำนวน 2 แปลง สุโขทัย จำนวน 3 แปลงและเชียงใหม่ จำนวน 5 แปลง