10 พืชผักสมุนไพรสร้างภูมิคุ้มกันต้านโรคเพื่อสุขภาพหาง่ายที่ตลาดใกล้บ้าน

  •  
  •  
  •  
  •  

1. ขิง สมุนไพรต้านการอักเสบ
นอกจากหญิงตั้งครรภ์ที่ควรรับประทานขิงเพื่อเพิ่มน้ำนมแล้ว ทุกคนสามารถนำมาประกอบอาหารเพื่อใช้ฤทธิ์ต้านการอักเสบของขิงกับร่างกายของเราได้ด้วย ขิงเป็นพืชที่มีระบุอยู่ในการแพทย์โบราณของหลายชนชาติว่าช่วยแก้พิษ ลดบวม ขับลม ซึ่งมีงานวิจัยยุคปัจจุบันที่รองรับสรรพคุณแก้หวัด โดยขิงมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้

2. ฟ้าทลายโจร คาดว่าจะป้องกันโควิด-19 ได้  
สรรพคุณการต้านโควิด-19 ด้วยสมุนไพรฟ้าทลายโจรนั้น อยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยขององค์การเภสัชกรรมที่ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาความเข้มข้นของระดับของสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่มีฤทธิ์ป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ ซึ่งคาดว่าเร็วๆ นี้เราคงจะได้รับคำตอบว่าควรใช้ปริมาณเท่าไหร่ ? เพื่อการรักษา แต่ก็สามารถรับประทานเพื่อเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกายในการลดอาการหวัดอื่นๆ ได้ด้วย

3. ขมิ้นชัน ลดปวดและต้านการอักเสบ
มีผลวิจัยจากภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าขมิ้นชันสกัด สามารถลดอาการอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุของการปวดของผู้ป่วยข้อเข่าอักเสบได้ แต่ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ซึ่งข้อมูลส่วนนี้เป็นทางเลือกดูแลตัวเองแก่ผู้ที่มีอาการปวดข้อและเป็นหวัด เพื่อแยกโรคหวัดธรรมดา กับ โรคโควิด-19 ที่มีอาการปวดเมื่อยตามตัวได้ด้วย

4. ไพล ลดอาการแก้ปวด
เนื่องจากโรคไข้หวัดที่มีอาการรุนแรงบางสายพันธุ์ อาทิ โควิด-19 จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเมื่อย ครั่นเนื้อครั่นตัว แต่ผู้ที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อต่าง ๆ สามารถใช้ไพลเป็นสมุนไพรทางเลือกเพื่อลดอาการปวดได้ โดยมีข้อมูลว่าไพลสามารถลดอาการปวดเมื่อยได้เมื่อเทียบกับกลุ่มยาแก้ปวดตระกูลแอสไพริน (aspirin) โดยมักจะนำมารักษาในรูปแบบน้ำมันหอมระเหย เพื่อสกัดเฉพาะสาร Curcumin (16) ที่มีเฉพาะเหง้าไพลให้เข้มข้น เพื่อลดการอักเสบ

5. ใบบัวบก มีฤทธิ์ลดไข้
อย่างที่เราทราบกันดีว่าใบบัวบกมีฤทธิ์เย็น แต่อาจจะยังไม่ทราบว่ามีสรรพคุณลดไข้ แก้เจ็บคอด้วย ซึ่งน้ำใบบัวบกมีผู้นำมาสกัดขายอยู่ทั่วไป มีการศึกษาในหนูทดลองพบว่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบในช่องปาก ลดการบวม และลดการอักเสบที่ผิวหนังได้ด้วย มีสาร asiaticoside ที่ช่วยสมานแผลผิวหนังเมื่อสกัดผสมในรูปเจล ในอนาคตเราอาจจะเห็นการใช้ใบบัวบกในการรักษาได้กว้างขวางกว่านี้เมื่อมีงานวิจัยรองรับผลของสรรพคุณ

6. กระชายดำ ลดการอักเสบ และฆ่าเชื้อ
มีผลงานวิจัยของนักวิจัยไทยค้นพบว่ากระชายดำมีฤทธิ์ลดการอักเสบ และฆ่าเชื้อจุลชีพที่เติบโตในช่องปากและทางเดินอาหารของมนุษย์ กล่าวง่ายๆ ก็คือ แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างการศึกษาว่าต้องใช้ความเข้มข้นของสารสกัดในกระชายดำเท่าไหร่เพื่อให้ได้ผลดี แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่การันตีแพทย์แผนไทยในอดีตที่เลือกใช้กระชายดำมาเป็นหนึ่งในตัวยารักษาโรคทั่วไป

7. กระเทียม ลดการอักเสบระดับเซลล์
เราใช้ส่วนของเหง้ากระเทียมในการประกอบอาหาร และสรรพคุณของกระเทียมนั้นมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับประเภทของกระเทียมด้วย แต่ภาพรวมกระเทียมนั้นมีฤทธิ์การป้องกันการเปลี่ยนรูปร่างของโครงสร้างภายในเซลล์ที่มาจากการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งภายในเซลล์ และกระเทียมมีฤทธิ์ต้านการอักเสบในกระเพาะอาหารและลำไส้

8. พริกไทย ต้านการอักเสบ
เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาไทยที่ใช้พริกไทยทั้งรูปแบบเครื่องเทศและยามาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยในพริกไทยมีสารต้านการอักเสบ ที่ชื่อว่า อัลคาลอยด์พิเพอรีน และรับประทานควบคู่กับการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันได้ ยกเว้นกับผู้ป่วยบางกลุ่มที่ได้รับยาบางชนิด เช่น ยาที่มีสเตียรอยด์ เพราะฉะนั้นหากใครที่รับประทานพริกไทยมากแล้วรู้สึกไม่ดี ก็ควรหยุด

9. มะระขี้นก
มะระขี้นกเป็นพืชที่กินง่ายมาก ลวกจิ้มน้ำพริก หรือปั่นสกัดกินแบบผลสด ดื่มหลังอาหารเช้าหรือเย็นวันละ 1 แก้ว จะช่วยลดระดับน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวาน ที่ต้องใช้อินซูลินได้ด้วย ในตำรับยาพื้นเมืองของชาวเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา พบการใช้มะระขี้นกเป็นตำรับยาลดไข้ แก้โลหิตเป็นพิษ และบรรเทาอาการปวดข้ออักเสบอีกด้วย

10. พริก ลดปวด ต้านการอักเสบตามข้อ
เราอาจเคยได้ยินว่ากินอาหารรสชาติเผ็ดบ้าง เพื่อลดอาการหวัด พริกช่วยขับเสมหะและกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเมือกเพื่อขับสิ่งที่เกาะอยู่ในทางเดินหายใจให้ระบายออกมาได้ และมีผลงานวิจัยทางเภสัชศาสตร์ พบว่าพริก มีคุณสมบัติต้านการอักเสบในกลุ่มเดียวกับขิง ซึ่งเบื้องต้นเมื่อทดลองแล้วพบว่าช่วยลดอาการปวดในผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม ซึ่งคาดว่าอนาคตเราจะสามารถพัฒนาเป็นยารักษากลุ่มอาการปวดได้ได้

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวดีๆ ของพืชผักสมุนไพรพื้นบ้าน ที่หากรับประทานเป็นประจำ ก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีแก่ร่างกายทั้งจากสรรพคุณและจากวิตามินที่จำเป็น ไทยรัฐออนไลน์ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างโรค โดยเริ่มต้นจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และอย่าลืมนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อต่อสู้กับโรคภัยในอนาคตด้วย

ที่มา : องค์การเภสัชกรรม, คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 

      : ไทยรัฐออน์ไลน์