“จะฝ่าวิกฤติภัยแล้งไปได้ ต้องร่วมกัน 3 ฝ่าย ด้วยการแบ่งปันความคิด ซึ่งชุมชนต้องปรับตัว วิเคราะห์น้ำต้นทุน ปริมาณน้ำ และความต้องการใช้ รวมถึงปรับเปลี่ยนพืชพันธุ์เกษตรให้ใช้น้ำน้อยที่สุด เช่น ต้นหอม กระเทียม และเน้นการนำน้ำมาใช้หล่อเลี้ยงชีวิตเป็นหลัก”
สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง นำไปสู่การเกิดภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่ต้องเผชิญภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี เพราะภาวะโลกร้อนทำให้ปริมาณน้ำฝนลดลงกว่าร้อยละ 30-40 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยต่อปี น้ำในเขื่อนเริ่มลดระดับจนแห้ง ยิ่งกว่านั้น กรมอุตุนิยมวิทยา ยังคาดว่าภัยแล้งปีนี้จะเกิดขึ้นยาวนาน กว่าฤดูฝนจะมาเยือนต้องรอถึงเดือนมิถุนายน
บ้านสามขา บทเรียนจากฝาย สู่การจัดการกู้วิกฤติแล้ง
หนึ่งแนวทางสำคัญที่ทุกภาคส่วนเห็นว่าจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ คือพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่า “…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…” ได้นำไปสู่การ “ระเบิดจากภายใน” จนเกิดชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการน้ำ ของหมู่บ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง
ร.ต.ชัย วงศ์ตระกูล
ร.ต.ชัย วงศ์ตระกูล ปราชญ์ชาวบ้านชุมชนบ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง หรือ หมวดชัย หนึ่งในแกนนำชุมชน เล่าว่า “หมู่บ้านสามขา” เป็นหมู่บ้านที่อยู่บนเนินเขาสูงและขาดการกักเก็บน้ำในพื้นที่ ทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก นำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแหล่งอาหาร และไม่มีแหล่งสร้างรายได้จนเกิดหนี้สิน หมวดชัย จึงพาชาวบ้านไปเรียนรู้ดูงานการสร้างฝายของโครงการพระราชดำริ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งแต่ปี 2545 ถึง 7 ครั้ง เพื่อหวังจะสร้างความเข้าใจและเป็นแรงบันดาลใจให้ชุมชนลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาร่วมกัน หลังผ่านการลองผิดลองถูก ชุมชนก็สามารถทำฝายชะลอน้ำจากบนเขาลงมาด้านล่างได้ถูกวิธี เพื่อดูดซับความชุ่มชื้นกระจายสู่ผิวดิน ให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง นำไปสู่การรวมกลุ่มชุมชนสร้างฝาย และร่วมมือกันทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่า
ฝายชะลอน้ำานสามขา
“ในหลวง ร.9 ทรงรับสั่งว่าให้ใช้วัสดุที่มีในป่า บวกกับแรงกาย แรงใจ แต่หลายคนไม่เชื่อ ในที่สุดเด็กในหมู่บ้านเป็นคนนำร่องทำ ทำให้ผู้ปกครองและคนในหมู่บ้านมาช่วยกัน ลองผิดลองถูกจนสรุปบทเรียนมาใช้ได้จริง” ร.ต.ชัย กล่าว
จากนั้น 3 ปีจึงเห็นความเปลี่ยนแปลงคือดินชุ่มชื้น ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งที่เคยประสบมายาวนาน 40-50 ปี ได้ด้วยการบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งยังเป็นการสร้างระบบแบ่งปัน ที่พาชุมชนให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ พอมีน้ำก็บริหารจัดการการใช้น้ำและแบ่งปันกันให้ทั่วถึง บ้านสามขา ยังขยายพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 4-5 ตำบล เกิดการรวมตัวภายใต้เครือข่ายลุ่มน้ำจาง โดยมี “เอสซีจี” เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง พร้อมผนึกกำลังกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ร่วมกำหนดแนวทางการทำงานให้เป็นระบบและชัดเจน
3 พลังประสาน รัฐ-เอกชน-ชุมชน
แม้วิกฤติภัยแล้งจะรุนแรงมากขึ้น แต่ด้วยความร่วมมือกันอย่างจริงจังของทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ด้วยการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ สร้างการมีส่วนร่วม รวมถึงการปลูกฝังบทบาทหน้าที่การอนุรักษ์ไปยังเยาวชนในชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น จึงเป็นทางออกสำหรับวิกฤติในครั้งนี้
“จะฝ่าวิกฤติภัยแล้งไปได้ ต้องร่วมกัน 3 ฝ่าย ด้วยการแบ่งปันความคิด ซึ่งชุมชนต้องปรับตัว วิเคราะห์น้ำต้นทุน ปริมาณน้ำ และความต้องการใช้ รวมถึงปรับเปลี่ยนพืชพันธุ์เกษตรให้ใช้น้ำน้อยที่สุด เช่น ต้นหอม กระเทียม และเน้นการนำน้ำมาใช้หล่อเลี้ยงชีวิตเป็นหลัก ตลอดจนสร้างให้คนในชุมชนเข้าใจและเอื้ออาทรกัน บางคนในพื้นที่ห่างไกลไม่มีน้ำ คนในพื้นที่ใกล้เคียงก็พร้อมแบ่งปันกัน” หมวดชัย กล่าว
เก่าขาม พลิกฟื้นผืนดินแล้ง จากระบบธนาคารน้ำใต้ดิน
ต่างชุมชนต่างก็มีแนวทางการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน สำหรับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี นั้น ได้พลิกฟื้นพื้นที่ในตำบลที่ขาดแคลนน้ำอย่างหนัก จนไม่สามารถเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรได้ ให้กลับมากักเก็บน้ำไว้ใช้ในชุมชนได้ถึง 3 ปี โดยไม่ต้องกังวลภัยแล้ง
ชาตรี ศรีวิชาฐา (ถือไมโครโฟน)
ชาตรี ศรีวิชาฐา นายก อบต. เก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี เล่าถึงการพลิกฟื้นผืนดินแห้งแล้งด้วยระบบการจัดการน้ำ โดยการน้อมนำศาสตร์พระราชาของในหลวง ร.9 ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างน้ำบนดินลงสู่ชั้นใต้ดินที่เรียกว่า “ระบบธนาคารน้ำใต้ดิน”
“พื้นที่อยู่นอกเขตชลประทาน ไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ประสบภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก ตอนแล้งจัดต้องใช้รถขนน้ำมาแจกชุมชน เสียค่าน้ำมัน 6-7 แสนบาท จนมาค้นพบระบบน้ำใต้ดินจากศาสตร์พระราชา” ชาตรี กล่าว
นายก อบต. เก่าขาม เผยถึงความสำเร็จของชุมชนว่า นอกจากความรู้แล้ว การสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนก็เป็นสิ่งสำคัญ ตั้งแต่การจัดการน้ำในครัวเรือน จนถึงภาคการเกษตร ด้วยการวางแผนร่วมกันกักเก็บน้ำในหมู่บ้าน โดยทำให้เกิดแหล่งน้ำชั้นใต้ดินหรือน้ำบาดาล โดยไม่หวังพึ่งเพียงหน่วยงานส่วนกลางหรือภาครัฐ
“ชุมชนบริหารจัดการน้ำตามบริบทท้องถิ่น ไม่โยนภาระไปที่ส่วนกลาง โดยทุกครัวเรือนได้ขุดบ่อเล็ก ๆ ของตัวเอง ไม่ปล่อยน้ำไหลทิ้งลงร่องระบายน้ำสาธารณะ เมื่อฝนตกก็มีบ่อรองรับน้ำเพื่อส่งต่อไปยังบ่อรองรับของชุมชน จากนั้นปล่อยไปยังพื้นที่เกษตรเพื่อผันน้ำลงสู่ชั้นใต้ดินเป็นธนาคารน้ำใต้ดินแบบพอเพียงไว้ใช้” นายก อบต. เก่าขาม ระบุ
จัดการน้ำชุมชนด้วยนวัตกรรม
นอกจากนี้ อบต.เก่าขาม ยังนำนวัตกรรมมาช่วยในการบริหารจัดการน้ำด้วยการฝังเซ็นเซอร์ที่ชั้นใต้ดิน เพื่อช่วยวัดระยะเวลาการซึมน้ำไปสู่ชั้นใต้ดิน ปริมาณน้ำ การปนเปื้อน และวิเคราะห์คุณภาพน้ำชั้นใต้ดิน ซึ่งทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งโครงการ “บัญชีนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดินแบบพอเพียง” นี้ เข้าประเมินรับรางวัล United Nations Public Service Awards (UNPSA) ประจำปี 2563 เพื่อเชิดชูเกียรติงานบริการภาครัฐเป็นเลิศที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนายั่งยืนขององค์การสหประชาชาติหรือ UN
“คนในชุมชนต้องรู้ว่าต้องการน้ำเท่าไหร่ และน้ำมีเท่าไหร่ และต้องเตรียมพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ เมื่อชุมชนรู้บริบท รู้บัญชีน้ำต้นทุนของตนเอง จึงจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน รวมถึงต้องมีการติดตาม ประเมินผล สรุปวิเคราะห์ เพื่อค้นหาอุปสรรคและหาโอกาสในการขยายผล” เขา กล่าว
เอสซีจี รักษ์น้ำฯ ปันบทเรียนสู่ 108 ชุมชน
อย่างไรก็ตาม มิติของการบริหารจัดการน้ำให้มีความยั่งยืนนั้น ชุมชนอาจไม่สามารถก้าวผ่านอุปสรรคได้เพียงลำพังหากไม่มีพี่เลี้ยงผู้คอยให้การสนับสนุน ทั้งเติมเต็มองค์ความรู้ และอำนวยความสะดวกให้ชุมชน เอสซีจี เป็นองค์กรที่มุ่งสานต่อปณิธานด้านการดูแลทรัพยากรน้ำ ด้วยเชื่อว่า น้ำ คือหัวใจของการก่อกำเนิดชีวิต จึงเริ่มต้นโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำจากภูผาสู่มหานที” ตั้งแต่ปี 2546 จากชุมชนรอบโรงงานปูนซีเมนต์ จนขยายผลไปสู่โครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง”
บวร วรรณศรี
บวร วรรณศรี ผู้จัดการปฏิบัติการธุรกิจและชุมชนสัมพันธ์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด ในเอสซีจี ย้อนถึงจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2537 เมื่อไปตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ที่ จ.ลำปาง แต่พบว่าพื้นที่มีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมจึงร่วมกันคิดฟื้นฟูปลูกป่าทดแทน แต่โดนไฟไหม้ป่าทุกปี จึงไปศึกษาโครงการพระราชดำริการสร้างฝายชะลอน้ำที่ห้วยฮ่องไคร้ จนสามารถฟื้นฟูป่าให้กลับมาเขียวขจี และขยายผลไปสู่การทำงานร่วมกับชุมชนรอบโรงงาน
“เอสซีจีอำนวยความสะดวกให้ชุมชน ไม่คิดแทน ไม่ทำแทน และไม่ใช้เงินเป็นตัวตั้ง โดยชุมชนต้องลงมือทำด้วยตนเอง ร่วมเก็บข้อมูลทรัพยากรในชุมชน ทั้งดิน น้ำ ป่า และพืชเศรษฐกิจ ทำให้เห็นข้อมูลว่าชุมชนเก็บน้ำฝนไว้ใช้ได้ไม่ถึงร้อยละ 2 ทั้งที่ทุกพื้นที่มีเครื่องมือหลากหลาย ทั้งแก้มลิง บ่อพวง ฝายชะลอน้ำ และธนาคารน้ำใต้ดิน”
เมื่อปีนี้วิกฤติภัยแล้งรุนแรงขึ้น เอสซีจีก็ได้ต่อยอดองค์ความรู้และขยายผลการบริหารจัดการน้ำให้ 108 ชุมชนที่มีภัยแล้งซ้ำซาก ได้ลุกขึ้นมาร่วมมือ เรียนรู้วิธีแก้ไข เพื่อให้รอดภัยแล้งด้วยตนเอง ภายใต้โครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเอสซีจีครบรอบ 108 ปี ในปี 2564 โดยมีเครือข่ายร่วมสนับสนุน ได้แก่ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ที่จะนำเทคโนโลยีมาช่วยวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำ แก้ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม
ขณะที่สยามคูโบต้า จะนำเครื่องจักรกลมาช่วยเสริมการสำรวจและขุดเจาะ เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำให้ชุมชน โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ สนับสนุนให้ชุมชนลุกขึ้นแก้ปัญหาภัยแล้งด้วยตนเองตามแนวพระราชดำริ ใช้ ‘ความรู้คู่คุณธรรม’ รวมถึงนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบแหล่งน้ำ การวางแผนจัดทำผังน้ำ และการใช้น้ำที่เหมาะสมกับความต้องการของชุมชน
สิ่งสำคัญ คือ การสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชน ‘รู้ รัก สามัคคี มีส่วนร่วม และพึ่งพาตนเอง’ จัดสรรแบ่งปันน้ำอย่างเป็นธรรม และขยายความรู้สู่ชุมชนอื่นต่อไป เช่นที่หมู่บ้านสาแพะเหนือ ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ที่บริหารจัดการแหล่งน้ำให้กักเก็บน้ำได้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการสร้างฝายใต้ทราย ขุดลอกวังน้ำ โดยชาวบ้านช่วยกันทำเอง ทำให้รอดภัยแล้งในปีนี้ไปได้
แผนแม่บทน้ำ 20 ปี ดึงชุมชนจัดการ พร้อมสั่งลุยด่วนสู้ภัยแล้ง
ภาครัฐเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการกำกับดูแลด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านกฎหมาย และนโยบายการพัฒนา ที่ต้องมีการทำงานอย่างบูรณาการ โดยได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้ง ด้วยการจัดทำแผนแม่บทน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ประดับ กลัดเข็มเพชร
ประดับ กลัดเข็มเพชร รองเลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากมีกฎหมายบังคับใช้ ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นการจัดการการใช้ การพัฒนา และการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากร เพื่อให้ 38 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน โดยจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจาก 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ คือ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีหน้าที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนแม่บท และมาตรการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และมีคณะกรรมการระดับลุ่มน้ำ ที่ให้ตัวแทนประชาชนที่มาจากการคัดเลือกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ ที่มาจากกลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นตัวแทนผู้ใช้น้ำจริง เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง
แม้ภัยแล้งที่เกิดขึ้นจะเป็นปัญหาที่รุนแรงสักเพียงใด แต่หากทุกฝ่ายทั้งชุมชน ภาครัฐ และเอกชน ลุกขึ้นมาร่วมมือ เรียนรู้ ลงมือทำ และแบ่งปันกัน โดยอาศัยองค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่เหมาะสมจัดการตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนมีการติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิด ก็จะช่วยให้ประเทศไทยของเราสามารถฝ่าวิกฤติทั้งภัยแล้งนี้ หรือปัญหาภัยธรรมชาติอื่นๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน