“ประภัตร”ตั้งเป้าอีก 2 ปี ไทยมีพันธุ์ข้าวตามความต้องการของตลาดโลก

  •  
  •  
  •  
  •  

“ประภัตร” ย้ำต้องเดินหน้าวิจัยและพัฒนาข้าว รองรับการแข่งขันตรงตามความต้องการของตลาดโลก ตั้งเป้าอีก 2- 3 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยจะมีพันธุ์ข้าวที่สามารถรองรับการแข่งขันและตรงตามความต้องการของตลาดโลกได้  เผยล่าสุดได้มีการปรับปรุงข้าว 2 สายพันธุ์ใหม่ “กข79 -พันธุ์ข้าวนุ่ม PTT 03019-18-2-7-4-1” อยู่ระหว่างเตรียมรับการรองพันธุ์เร็วๆนี้

      วันที่ 16 มีนาคม 2563 นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร แขกผู้มีเกียรติ และเจ้าหน้าที่ของกรมการข้าว เข้าร่วมพิธีในวันสถาปนากรมการข้าวครบรอบ 14 ปี จัดพิธีมอบโล่ ประกาศเกียรติคุณ ข้าราชการพลเรือนดีเด่น “คนดีศรีข้าว” ประจำปี
พ.ศ. 2562 จากนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์    สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นของกรมการข้าวในปีนี้ ได้แก่ นายอนุชาติ คชสถิตย์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวร้อยเอ็ด และนางสาวชวนชม ดีรัศมี นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท

ประภัตร โพธสุธน

      นายประภัตร กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือ “แนวทางการเร่งรัดและการขับเคลื่อนแผนงานโครงการปีงบประมาณ 2563”
 ว่า ปัจจุบันภาคการเกษตรของไทย กำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ภัยธรรมชาติซึ่งคาดว่าจะเกิดภัยแล้งไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ตลอดจนสถานการณ์โรคติดต่อ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร ผลไม้ ปศุสัตว์ และประมง อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างวางแผนช่วยเหลือสินค้าด้านต่าง ๆ และตลอดระยะเวลาที่กำกับดูแลกรมการข้าว ได้มุ่งวางระบบการทำงานเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพ อาทิ การผลิตเมล็ดพันธ์ข้าวให้เพียงพอกับความต้องการ การพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชน การพัฒนาแปลงใหญ่ การจัดหาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อใช้ในการทำนา รวมทั้งวางระบบการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวตามความต้องการของตลาด หรือผู้ส่งออกข้าว เช่น พันธุ์กข79 และพันธุ์ข้าวนุ่ม PTT 03019-18-2-7-4-1 ซึ่งเป็นพันธุ์ใหม่อยู่ระหว่างเตรียมรับรองพันธุ์

     สำหรับนโยบายที่จะให้มีการร่วมแรงร่วมใจกันวิจัยและพัฒนาข้าวพันธุ์ดี เพื่อการแข่งขันของศูนย์วิจัยข้าว และร่วมแรงร่วมใจในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว ขอย้ำว่ายังคงให้มีการดำเนินงานเช่นเดิม และต้องเร่งรัดดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว โดยที่กรมการข้าวต้องให้ความสำคัญในด้านการวิจัย และพัฒนาข้าวเพื่อการแข่งขันของไทยตามความต้องการของผู้ส่งออกข้าว เช่น การวิจัยและพัฒนาข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ให้มีผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น (ปัจจุบันผลผลิตต่อไร่ข้าวรอบที่ 1 : นาปี 666 กิโลกรัมต่อไร่ รอบที่ 2 :นาปรัง 669 กิโลกรัมต่อไร่)

มอบโล่ข้าราชการดีเด่น

    สำหรับการวิจัยและพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ต้านทานโรคและแมลงศัตรูข้าว รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาข้าวต้องให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิตข้าว เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ชาวนา โดยมีเป้าประสงค์ในอีก 2 – 3 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยจะมีพันธุ์ข้าวที่สามารถรองรับการแข่งขันและตรงตามความต้องการของตลาดโลก เพื่อยกระดับการส่งออกข้าวของประเทศไทย

นายประภัตร กล่าวอีกว่า ชาวนามีความต้องการปลูกข้าวที่ใช้ระยะเวลาสั้น และให้ผลผลิตมาก ดังนั้นศูนย์วิจัยข้าวในแต่ละภูมิภาคควรร่วมมือกันในการสร้างการรับรู้ และความเข้าใจให้กับชาวนาในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวนุ่มออกมาให้ได้ตามเป้าประสงค์ โดยจะแบ่งออกเป็น 5 ประเภทคือข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวขาว ข้าวแข็ง และข้าวเหนียว ซึ่งหากชาวนามีความรู้ความเข้าใจ ก็จะสามารถทราบได้ว่าภาคไหนควรผลิตข้าวพันธุ์อะไร และทราบถึงความเหมาะสมของพันธุ์ข้าวในการปลูกแต่ละพื้นที่ ตลอดจนสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวออกมาให้เพียงต่อความต้องการในการส่งออก

       นอกจากนี้ สถาบันการจัดการนานาชาติยังได้จัดอันดับประเทศไทยในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อยู่ในอันดับที่ 42 ของโลก เนื่องจากประเทศไทยมีจุดแข็งในด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม อาทิ ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ประเทศไทยมีความท้าทายในด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่สำคัญ เช่น กำหนดโจทย์การวิจัยที่ตอบสนองความต้องการประชาชน ภาคการผลิตและบริหาร ดังนั้น หากมีพันธุ์ข้าวที่ดี ถือว่ามีโอกาสสูงที่จะชนะคู่แข่งได้ ซึ่งงานวิจัยและพัฒนาข้าวถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาการผลิตข้าวของไทย