พิษแล้งคุกคามหนัก สวนลำไยเมืองจันท์ยืนต้นตาย ทุเรียน มังคุ ด เงาะส่อตายตาม ป.สภา​เกษตรกรจังหวัดลั่น”เกษตรตายไม่ได้”

  •  
  •  
  •  
  •  

พิษภัยแล้งลามไปทั่วพื้นที่เกษตร ล่าสุดสวนไม้ผลเมืองจันท์ได้รับผลกระทบเต็มๆ พบสวนลำไยในพื้นที่ อ.โป่งน้ำร้อน สอยดาวยืนต้นตายระนาว ทุเรียน มังคุด เงาะกำลังตามมา  ประธานสภา​เกษตรกร​จันทบุรี ชี้หากปล่อยไปเจ้าของสวนจะตายตาม แนะ 4 ทางออกให้รีบดำเนินการด่วน ลั่นจะไม่ยอมให้เกษตรกรล้มตาย โดยที่รัฐไปเชิดชูอุตสาหกรรมให้เติบโต

       นายธีระ วงษ์เจริญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ ส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรที่ทำการเกษตรทุกด้าน อย่างจังหวัดจันทบุรี ขึ้นชื่อเรื่องเมืองผลไม้ ขณะนี้ต้นลำไยกำลังจะยืนต้นตาย และที่กำลังตามมาคือ ทุเรียน มังคุด เงาะ ถึงแม้ค่าเฉลี่ยปริมาณฝน 3,200  มิลลิเมตร/ปี แต่ในบางพื้นที่ เช่น อ.โป่งน้ำร้อน อ.สอยดาว ที่มีสวนลำไยค่อนข้างมาก แต่เป็นพื้นที่มีปริมาณฝนน้อย แม้ว่าในพื้นที่มีอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธแต่ระบบการกระจายน้ำยังไม่สมบูรณ์ รวมทั้งมีการขยายพื้นที่ทำการเกษตรเพิ่มขึ้นด้วย ทำปริมาณน้ำจึงไม่เพียงพอ

      ล่าสุดทางสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยประทังต้นลำไยของเกษตรกรให้อยู่รอดก่อน และขอให้ทางจังหวัดประกาศภัยพิบัติ จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการแบ่งปันน้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธโครงการ 1 ไปสู่โครงการ 3 แล้วมาหารือกันว่า จะแบ่งปันน้ำกันอย่างไร ตอนนี้ต้องหาแนวทางให้เกษตรกร และประชาชน ต้องมามาหารือร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนรอดให้ได้ โดยหวังภายในระยะช่วงสิ้นเดือนนี้ ต้นลำไยจะต้องรอด 

       อย่างไรก็ตาม ทางสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี ได้ลงไปดูพื้นที่ทั้งหมดแล้วว่า สามารถที่จะกระจายน้ำเข้าไปช่วยให้ต้นลำไยเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งระยะแรกต้องไม่หวังผลผลิต แต่ขอให้ต้นลำไยรอดตายก่อน ทางเกษตรกรต้องตัดใบ เพื่อลดการคายน้ำ รวมทั้งตัดผลทิ้งให้หมด พร้อมกับการคลุมโคนต้น เพื่อสร้างความชุ่มชื้นในดินป้องกันความชื้นระเหยได้

      “ผมไม่เชื่อว่า ความแห้งแล้งจะมีแค่เดือนสองเดือน แต่ถ้ามันยาวนาน 3 เดือน หรือมากกว่านั้น เราอาจจะตายไปพร้อมๆ กับต้นลำไยก็ได้ เพราะฉะนั้นพี่น้องเกษตรกร ต้องพยายามหาแหล่งน้ำมาเพิ่มเติมในพื้นที่เกษตรให้ได้ ทุกวันนี้เรามองการพัฒนาอุตสาหกรรมมากกว่าการเกษตรไปแล้ว และสภาเกษตรกรคงยอมไม่ได้ หากปล่อยให้เกษตรกรล้มตายไป โดยที่ภาครัฐหันไปเชิดชูภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตเพื่อให้ได้เงินเข้าประเทศมากๆซึ่งเป็นการบริหารงานที่ผิดพลาด” นายธีระ กล่าว

       ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ได้เสนอแนวทางไปยังจังหวัดจันทบุรีแล้ว คือให้ชาวสวนทุกสวนในขณะนี้ต้องมีแหล่งน้ำสำรองของตัวเองอย่างน้อย 10 %ของสวน  ต้องปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ซับความชื้นอย่างน้อย 10 %ต์ของทุกสวน พร้อมให้ทำระบบกระจายน้ำคลองส่งน้ำให้ทั่วถึง ซึ่งสามารถทำได้เลย ไม่ต้องรอการออกแบบ นอกจากต้องหาแหล่งเงินทุนปลอดดอกเบี้ย 3 ปี เพื่อให้เกษตรกรขุดสระน้ำในพื้นที่ 10% ของสวนจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยปกติต่อไป