มนัญญา ไทยเศรษฐ์ เป็นประธานการประชุม คณะที่ปรึกษา ข้าราชการในสังกัด โดยมีตัวแทนสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เข้าร่วมเพื่อติดตามการดำเนินงานเรื่องวัตถุอันตราย
ตัวแทนสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย บุกกระทรวงเกษตรฯเข้าพบ “มนัญญา” ยื่นข้อเรียกร้องต่อ 6 ข้อ เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรพัฒนาและยกระดับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หวังเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันการส่งออกสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลก ยืนยันสารเคมีเป็นปัจจัยการผลิตที่จำเป็นต่อการเพาะปลูก ชี้มาตรการยกเลิกสารพาราควอต แต่ให้จำกัดการใช้สารไกลโฟเซต จะสร้างความเสียหายต่อระดับผลผลิต และระดับรายได้ของเกษตรกรอย่างมหาศาล
วันที่ 4 มีนาคม 2563 มีตัวแทนสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยในฐานะตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และไม้ผล นำโดยนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ นายกสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เข้าพบนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายบริหารจัดการสารเคมีด้านการเกษตรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 6 ข้อประกอบด้วย
1.ให้พิจารณาเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างเกษตรกร ภาครัฐ และภาคเอกชนในการพัฒนาและยกระดับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ “จีเอพี” เพื่อให้เกิดการเพาะปลูกและได้ผลผลิตที่ได้มาตรฐานปลอดภัย เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันการส่งออกสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลก, 2.เนื่องจากสารเคมีด้านการเกษตร ถือเป็นปัจจัยการผลิตที่จำเป็นต่อการเพาะปลูกของเกษตรกร จึงขอเสนอให้พิจารณาส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมเกษตรอย่างทั่วถึง ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ ให้สามารถใช้สารเคมีเกษตรชนิดต่างๆ ตามมาตรฐานจีเอพีอย่างถูกวิธี ซึ่งการดำเนินการตามแนวทางจีเอพีอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการสร้างความปลอดภัยด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการทำงานหาเลี้ยงชีพของเกษตรกร ขอให้ส่งเสริมเทคโนโลยีใหม่ๆ แม้แต่การวิจัยสารเคมีตัวใหม่ๆ อย่าไปปิดกั้น หรือห้ามไม่ให้มีสารมหม่ๆ เข้ามาขายในประเทศ เพราะมันคือเทคโนโลยี และหากมีการระบาดของโรค แมลงชนิดใหม่ๆ เกษตรกรจะได้มีตัวเลือก ท้ายที่สุดเกษตรกรผู้ใช้จะเป็นผู้เลือกเองตา ประสิทธิภาพ ราคา
3.สมาพันธ์เกษตรปลอดภัยเล็งเห็นถึงความสำคัญของแนวนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเครื่องจักรกลทางการเกษตร อย่างไรก็ตาม สมาพันธ์เกษตรปลอดภัยขอเสนอให้พิจารณาผลักดันนโยบายดังกล่าวตามความเหมาะสมของวิธีการเพาะปลูกและสภาพพื้นที่เกษตรกรรมในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งความพร้อมของเกษตรกรผู้ปลูกพืชในแต่ละชนิด ในกรณีที่ยังไม่สามารถใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรหรือนวัตกรรมอื่นๆ มาทดแทนได้ ควรส่งเสริมให้เกษตรมีศักยภาพในการใช้สารเคมีด้านการเกษตรตามมาตรฐานจีเอพี ควรเปิดโอกาสให้เกษตรกรไทยมีทางเลือกในการเข้าถึงปัจจัยทางการผลิตในระดับต้นทุนที่ยอมรับได้
4.ประเด็นเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากสารเคมีทางการเกษตรยังมีข้อถกเถียง และข้อโต้แย้งทางวิชาการในหลากหลายมิติที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ทางสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยจึงขอเสนอให้พิจารณาสรรหาแนวทางที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเกษตรกรในชนบทและผู้บริโภคในเมือง ทำให้เกษตรกรดำรงชีวิตอยู่ได้ ทั้งนี้ การเร่งรัดให้มีการยกเลิกสารเคมีทางการเกษตรโดยไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน จะก่อให้เกิดภาระต่อเกษตรกรไทยอย่างมหาศาล จนกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ
5.เนื่องจากมาตรการจำกัดการใช้สารไกลโฟเซต พาราควอต และคลอร์ไพริฟอสมีผลบังคับใช้มานับตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2562 จวบตนปัจจุบัน แต่เกษตรกรจำนวนมากยังไม่มีโอกาสได้รับการฝึกอบรมและผ่านการทดสอบการใช้สารเคมีทั้งสามชนิดอย่างถูกวิธี จึงไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตเพื่อเตรียมความพร้อมในฤดูกาลเพาะปลูกอันใกล้นี้ จึงขอเสนอให้ ฯพณฯ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเปิดการฝึกอบรมทั่วประเทศเป็นการเร่งด่วน มิฉะนั้น อาจเกิดสภาวะความโกลาหลในภาคการเกษตร ซ้ำเติมเกษตรกรผู้กำลังประสบภัยแล้ง และอาจเกิดภาวะตลาดมืดของสารเคมีซึ่งทำลายระบบมาตรฐานจีเอพีของประเทศไทย
6.สารพาราควอตเป็นปัจจัยการผลิตที่จำเป็นในการจัดการวัชพืช ซึ่งไม่มีสารทดแทนหรือวิธีการทดแทนที่มีประสิทธิภาพ ในระดับต้นทุนที่เกษตรกรยอมรับได้ นอกจากนี้ สารไกลโฟเซตก็ไม่สามารถทดแทนสารพาราควอตได้ เนื่องด้วยคุณสมบัติที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น มาตรการยกเลิกสารพาราควอต แต่ให้จำกัดการใช้สารไกลโฟเซต จะสร้างความเสียหายต่อระดับผลผลิต และระดับรายได้ของเกษตรกรอย่างมหาศาล จึงขอให้ พิจารณาคงไว้ซึ่งมาตรการจำกัดการใช้สารพาราควอต และมีการสนับสนุนให้เกษตรกรใช้สารเคมีดังกล่าวอย่างถูกต้องตามมาตรฐานจีเอพีที่ประเทศคู่ค้าหลักของไทยยอมรับ