ดลมนัส กาเจ
ในยุคที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากปีแล้วปีเล่า กระทบโดยตรงต่อเกษตรกร นวัตกรรมจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตร อย่าง “การปลูกอ้อยน้ำน้อย” ที่ “คูโบต้า ฟาร์ม” อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี นำมาเป็นแบบให้เกษตรกรเรียนรู้ ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ควรที่จะไปเรียนรู้เพื่อนำใช้ประโยชน์จริง เพราะได้พิสูจน์ในระดับหนึ่งแล้วว่า สามารถลดต้นทุนได้ และยังให้ผลผลิตสูงขึ้นกว่าปลูกแบบทั่วไปถึง 30%
นายรัชกฤต สงวนชีวิน ผู้จัดการฝ่ายสนับสนุนการขาย บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งดูแลคูโบต้า ฟาร์มด้วย บอกว่า การปลูกอ้อยน้ำน้อย เป็นวิธีการปลูกอ้อยที่ทางสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ศึกษาดูงานจากต่างประเทศและทำการวิจัยเพื่อปรับให้สามารถใช้งานได้กับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ทางบริษัท สยามคูโบต้าฯ จึงนำหลักการนี้มาใช้ในแปลงสาธิต ที่“คูโบต้า ฟาร์ม” อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และอีกส่วนหนึ่งที่ได้ข้อมูลจากแปลงสาธิต สสนก.ที่ จ.เพชรบูรณ์ พบว่า สามารถลดต้นทุนจริง เพราะลงทุนเพียงครั้งเดียวอยู้ได้ถึง 10 ปี ที่สำคัญพบว่า ผลผลิตเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับการปลูกอ้อยแบบทั่วไป
สำหรับหลักการปลูกอ้อยน้ำน้อย ก็คือ ต้องการบริหารจัดการน้ำภายในแปลงอ้อยให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการใช้เทคนิคการกักเก็บน้ำภายในแปลงไร่อ้อย โดยใช้การฝังท่อน้ำเพื่อกักเก็บน้ำใต้ดินในวงท่อซิเมนต์ตามจุดต่างๆ ในแปลงอ้อยไร่ละ 3- 6 จุด(บ่อ) ขึ้นอยู่กับความลาดชันและน้ำชั้นใต้ผิวดิน จากการดำเนินการพบว่า ทำให้ลดการสูญเสียน้ำจากการไหลบ่า และการระเหยจึงทำให้ประหยัดน้ำในการเพาะปลูก
ขั้นตอนการดำเนินการคือเมื่อศึกษาแผนที่แปลงหาจุดเหมาะสมแล้วด้วยการตรวจเช็คระดับความสูงและความลาดเอียงของพื้นดินแต่ละจุดได้แล้ว ทำการขุดดินทำเป็นบ่อตรงร่องของไร่กว้างให้พอดีกับวงท่อซิเมนต์ ลึก 2 เมตร วางตำแหน่งท่อซีเมนต์กักเก็บน้ำลงไปในบ่อที่ขุด พยายามวางตำแหน่งท่อซีเมนต์กักเก็บน้ำและร่องดักน้ำที่ทำจากท่อพีวีซี คือต้องขุดร่องเพื่อดักน้ำให้ไหลลงท่อวงซีเมนต์ ขนาด 6 – 8 นิ้ว แล้ววางท่อพีวีซีทำให้งอ 90 องศา เพื่อดักน้ำเข้าท่อวงซีเมนต์ผ่านท่อพีวีซีและลงมากักเก็บในท่อซีเมนต์ให้มากที่สุดเมื่อน้ำไหลเข้าสู่บ่อใต้ดินแล้ว น้ำจะไหลซึมออกตามข้อต่อที่เป็นปล้องๆ หรืออาจเจาะรูเล็กๆรอบๆปล้องวงท่อซิเมนต์ก็ได้ น้ำจะกระจายในรัศมีรอบๆท่อซีเมนต์ได้ประมาณ 15 เมตร ฉะนั้นทางที่ดีวางท่อห่างกันประมาณ 30 เมตรน้ำจะกระจายทั่วแปลง(ดูคลิปประกอบ)
ทั้งหมดนี้เป็นระบบเติมน้ำใต้ดินในแปลงไร่อ้อยที่จะช่วยให้มีการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เกษตรกรลงทุนครั้งเดียว สามารถใช้ระบบนี้ได้นานถึง 10 ปี แต่กระนั้นทุกขั้นตอนในตอนนี้ยังอยู่ช่วงของการวิจัย และกระจายทดสอบในพื้นที่ต่างๆ อนาคตถ้าได้ข้อมูลที่สมบูรณ์จะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นอย่างแน่นอน