จัดแพ็กเกจเครื่องจักรกล อุปกรณ์ที่กรมวิชาการเกษตรผลิตเอง ลุยแก้ปัญหาการเผาไร่อ้อยครบวงจร

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                                เสริมสุข  สลักเพ็ชร์

กรมวิชาการเกษตร  ส่งแพ็กเกจเครื่องจักรกลแก้ปัญหาเผาใบอ้อย 4 ประเภท “รถตัดอ้อยสดชนิดตัดเป็นลำ- เครื่องสางใบอ้อยและมีดสางใบ- เครื่องสับใบอ้อยระหว่างแถวอ้อยตอ -เครื่องสับใบและกลบเศษซากอ้อย” หวังแก้ปัญหาให้ชาวไร่อ้อยได้ครบวงจร  ชี้การเผาทำดินเสื่อม  สูญเสียปริมาณและคุณภาพอ้อย  เกิดมลพิษทางอากาศ  แถมเจอหนอนกอรุมระบาดมากขึ้นด้วย

     นางสาวเสริมสุข  สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การเผาใบและเศษซากอ้อยยังคงเป็นปัญหาสำคัญของการผลิตอ้อยและน้ำตาลของไทยที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ  ที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม รวมทั้งการเสื่อมคุณภาพของดิน   โดยการเผาใบและเศษซากอ้อยของเกษตรกรมีอยู่ด้วยกัน 3 ลักษณะ คือการเผาใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว  หลังการเก็บเกี่ยว  และก่อนการเตรียมดินปลูกอ้อย 


     สาหตุหลักของการเผาใบและเศษซากอ้อย มาจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวและเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการตัดอ้อย  ประกอบกับคนงานตัดอ้อยได้ค่าแรงตัดอ้อยมากขึ้น  เนื่องจากตัดอ้อยไฟไหม้ได้มากกว่าตัดอ้อยสดที่ต้องเสียเวลาริดใบออก  แต่การตัดอ้อยไฟไหม้นอกจากจะทำให้เกิดการสูญเสียน้ำหนัก  ผลผลิต  และคุณภาพความหวานแล้วยังทำลายอินทรียวัตถุที่ควรกลับคืนสู่ดินลดลงถึง 10%  และการไม่มีเศษซากใบอ้อยคลุมดินทำให้ดินสูญเสียความชื้นได้ง่าย  มีวัชพืชขึ้นเบียดบังอ้อยตอมากขึ้น  ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอ้อยตอเพิ่มขึ้นประมาณ 800 บาท/ไร่  รวมทั้งยังทำให้มีหนอนกอลาย และหนอนกอสีขาวเข้าทำลายอ้อยตอมากกว่ามีใบคลุมถึง 40 %

    นางสาวเสริมสุข กล่าวอีกว่า  การพัฒนาเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการเก็บเกี่ยวอ้อยสดและเครื่องมือเตรียมดินเพื่อลดการเผาใบ จึงเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ปัญหาการเผาอ้อยจากสาเหตุต่างๆ ที่กล่าวมา  รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตอ้อย   ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในอนาคต  

      กรมวิชาการเกษตรมีงานวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาการเผาใบอ้อย โดยศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี  สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน  ได้คิดค้นเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปใช้แก้ปัญหาดังกล่าว  ได้แก่  รถตัดอ้อยสดชนิดตัดเป็นลำ  ซึ่งมีส่วนประกอบหลักคือรถแทรกเตอร์ขนาด 70 แรงม้า   ทำหน้าที่ขับเคลื่อนรถตัดอ้อย และชุดตัดอ้อยพร้อมถาดรับลำอ้อย เมื่อตัดอ้อยได้เต็มถาดจะเทอ้อยกองแล้วใช้รถคีบอ้อยใส่รถบรรทุก   ซึ่งรถตัดอ้อยนี้มีกลไกไม่ซับซ้อน  และมีราคาที่เกษตรกรไทยสามารถซื้อใช้เองได้

      กรณีที่ชาวไร่ที่ไม่สามารถใช้รถตัดอ้อย แนะนำให้มีการสางใบอ้อยแห้งเพื่อตัดอ้อยสดได้เร็วขึ้น  ซึ่งใบอ้อยที่คลุมดินจะช่วยรักษาความชื้นให้กับดิน  ทำให้อ้อยยังเจริญเติบโตถึงแม้ว่าจะหมดฤดูฝน  ซึ่งเครื่องสางใบอ้อยและมีดสางใบ จะช่วยให้การสางใบอ้อยทำได้รวดเร็วและประหยัดแรงงาน   โดยมีผลงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการสางใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวอ้อยสดช่วยให้คนงานตัดอ้อยสามารถตัดอ้อยสดได้เร็วขึ้นและคุ้มค่าต่อการลงทุน  นอกจากนี้ หลังการเก็บเกี่ยวอ้อยสดจะมีใบอ้อยคลุมดินที่อาจเป็นเชื้อเพลิงไหม้อ้อยตอภายหลังได้  ดังนั้นหลังเก็บเกี่ยวอ้อยแล้วชาวไร่จึงเผาใบอ้อยเพื่อกำจัดเชื้อเพลิงก่อนที่อ้อยจะงอก  ทำให้ดินสูญสียความชื้น  อ้อยตอแคระแกร็น  และมีหนอนกอเข้าทำลายมากขึ้น  จึงแนะนำให้เกษตรกรใช้ เครื่องสับใบอ้อยระหว่างแถวอ้อยตอ  สับใบอ้อยลงดินเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟไหม้ใบอ้อยที่คลุมดิน


   “เกษตรกรจะเผาใบและเศษซากอ้อยในอ้อยตอปีสุดท้ายเพื่อความสะดวกต่อการเตรียมดิน เพราะถ้ามีใบอ้อยจะทำให้ล้อรถแทรกเตอร์ลื่น ไม่สามารถควบคุมแทรกเตอร์ได้ เป็นอุปสรรคต่อการเตรียมดิน   ซึ่งการเผาใบและเศษซากอ้อยทำให้ดินเกิดปัญหาดินแน่นทึบ รากอ้อยเจริญเติบโตได้ไม่ดี  ดังนั้นจึงแนะนำให้เกษตรกรใช้เครื่องสับใบและกลบเศษซากอ้อยสับกลบใบและเศษซากอ้อยคลุกเคล้าลงดิน  เพื่อความสะดวกต่อการเตรียมดินปลูกอ้อยใหม่ทดแทนวิธีการเผาใบของเกษตรกร  เกษตรกรที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี  โทรศัพท์ 0-3552-8255” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าว