โดย..นวลศรี โชตินันทน์
หลังจากที่กรมวิชาการเกษตร ได้คัดเลือกและพัฒนาสายพันธ์ลิ้นจี่จนประสบผลสำเร็จได้พันธุ์ลิ้นจี่ “นครพนม 1” หรือ “นพ.1” ปัจจุบันกลายเป็นผลไม้และเป็นสินค้า GI ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครพนม พื้นที่ปลูกทั้งหมด 2,711 ไร่ เก็บเกี่ยว ผลผลิตได้แล้ว 1,098 ไร่ ในปี 2560 ให้ผลผลิตรวม 580.8 ตัน
ลิ้นจี่ที่ปลูกในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ปลูกในภาคกลางและภาคอื่น ๆ เป็นพันธุ์ที่ต้องการความหนาวเย็นที่ไม่เย็นมากนัก และระยะเวลาหนาวเย็นที่ต่อเนื่องกันไม่นานก็สามารถชักนำให้ออกดอกได้ เรียกว่า ลิ้นจี่กลุ่มพันธุ์เบา เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือเมษายน เช่น พันธุ์ค่อม สำเภาแก้ว เขียวหวาน กระโถนท้องพระโรง สาแหรกทอง รวมถึงพันธุ์ “นครพนม 1”ด้วย
อีกกลุ่มพันธุ์ที่ปลูกทางภาคเหนือ เป็นพันธุ์ที่ต้องการความหนาวเย็นมากและต่อเนื่องยาวนานในการกระตุ้นและชักนำการออกดอก ให้ผลผลิตในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม เช่น พันธุ์ฮงฮวย จักรพรรดิ์ กิมเจ็งบริวสเตอร์ และกิมจี๊ เป็นต้น
ลิ้นจี่พันธุ์เบามีข้อได้เปรียบ คือ ให้ผลผลิตเร็ว ช่วงที่ผลผลิตมีน้อย ทำให้ขายได้ราคาสูง ควรจะมีการส่งเสริมให้ปลูกในพื้นที่ที่มีศักยภาพ ซึ่งพันธุ์นครพนม 1 หรือ นพ.1 เหมาะสมกับสภาพอากาศของจังหวัดนครพนมและหลายจังหวัดในภูมิภาคนี้
นักวิชาการคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์จนได้พันธุ์ นพ.1
นายนิยม ไข่มุกข์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ปัจจุบันรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 กรมวิชาการเกษตร บอกว่า า จังหวัดนครพนมมีสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการผลิตผลไม้หลายชนิด สถานีทดลองพืชสวนนครพนม นายปรีชา เชยชุ่ม อดีตหัวหน้าสถานีในสมัยนั้น ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากรมวิชาการเกษตร เป็นผู้เริ่มพัฒนาพันธุ์และเผยแพร่พันธุ์ และมีนักวิชาการเกษตรคือ นายชำนาญ กสิบาล เป็นผู้ร่วมงาน ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม
สวนนายปรีชา ได้จัดทำโครงการพัฒนาและคัดเลือกชนิดพันธุ์ไม้ผลใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับพื้นที่และมีศักยภาพทางการตลาดสูง เห็นว่าลิ้นจี่เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ติดแม่น้ำโขงมีดินอุดมสมบูรณ์และมีสภาพอากาศหนาวเย็นเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของลิ้นจี่ ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนช่วงปลายฤดูฝนน้อย ไม่เกิน 60-80 มม. และมีอุณหภูมิในเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ต่ำสุดน้อยกว่า 20 องศาเซลเซียส
ขณะที่สวนนายนิยม บอกว่า ในช่วงปี 2528-2533 สถานีทดลองพืชสวนนครพนม ได้ทดลองนำลิ้นจี่พันธุ์กลุ่มพันธุ์ภาคกลางและกลุ่มพันธุ์ทางภาคเหนือมาทดลองปลูกในพื้นที่ของศูนย์ฯ ปรากฎว่าลิ้นจี่พันธุ์ค่อมให้ผลดี แต่ผลมีขนาดเล็กและมีรสฝาดปน ส่วนกลุ่มพันธุ์ภาคเหนือได้แก่พันธุ์ฮงฮวยและกิมจี๊ ให้ผลผลิตเฉพาะในปีที่อากาศหนาวเย็นมากและหนาวเย็นนาน ต้องคอยควั่นกิ่งเพื่อกระตุ้นการสร้างตาดอกร่วมด้วย ประกอบกับผลผลิตออกช้า คือประมาณเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับลิ้นจี่ภาคเหนือออกสู่ตลาดทำให้ราคาตกต่ำ และยังมีปัญหาเปลือกผลแห้งมีสีน้ำตาลและผลแตก เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม
ลักษณะที่โดดเด่นของลิ้นจี่ นพ.1 คือ รสหวานอมเปรี้ยว
ในช่วงปี 2533-2535 ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม ได้คัดเลือกและพัฒนาพันธุ์ลิ้นจี่จนประสบความสำเร็จ และในที่สุดศูนย์ฯ ก็ได้ลิ้นจี่พันธุ์นครพนม 1 หรือ นพ.1 ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เพราะลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 ต้องการสภาพอากาศหนาวเย็นไม่มากและไม่ยาวนานในการกระตุ้นการออกดอกต่างจากพันธุ์อื่นที่ปลูกในประเทศไทย
“ลักษณะที่โดดเด่นของลิ้นจี่ นพ.1 คือ รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ผลใหญ่ เนื้อแห้ง ไม่เละ เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเร็ว สามารถเก็บเกี่ยวได้ในเดือนเมษายนของทุกปี ทำให้จำหน่ายได้ในราคาดี และไม่มีปัญหาด้านการตลาด”
ผลิตต้นพันธุ์ให้เกษตรกรไปปลูก
คุณนิยม เล่าว่า เมื่อศูนย์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์จนได้ลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 ขึ้นมาแล้ว จึงได้ผลิตต้นพันธุ์กระจายไปให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ที่สนใจนำไปปลูกต่อ ๆ กันไป จากเดิมที่จังหวัดนครพนมไม่เคยมีการปลูกลิ้นจี่มาก่อนเลย เรียกได้ว่า ชาวบ้านไม่รู้จักผลไม้ลิ้นจี่ด้วยซ้ำ ศูนย์ฯ ได้เผยแพร่ลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 ออกไปจนมีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในปีเพาะปลูก 2542/43 หลังจากแนะนำพันธุ์ไป 5 ปี พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 608 ไร่ ผลผลิตรวมทั้งสิ้น 28 ตัน พื้นที่เก็บเกี่ยว 368 ไร่ ผลผลิต 28 ตัน เฉลี่ยรวม 77 กก./ไร่ ต่อมาในปี 2552/53 พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 822 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 381 ไร่ ผลผลิตรวม 368 ตัน อย่างไรก็ตามศูนย์ฯ ยังเห็นว่าผลผลิตที่เกษตรกรได้รับยังค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับศักยภาพของพันธุ์ คือ ต้นแม่พันธุ์ให้ผลผลิต 68-102 กก.ต่อต้น หรือโดยเฉลี่ยเท่ากับ 81.3 กก.ต่อต้นเท่านั้น นอกจากผลผลิตต่ำแล้ว การออกดอกติดผลมีความแปรปรวน การร่วงของดอกและผลในระยะผลเล็กค่อนข้างสูง แล้วยังพบปัญหาแมลงศัตรูพืช เช่น หนอนเจาะขั้วผล ผลผลิตเก็บรักษาไว้ไม่ได้นาน คุณภาพผลผลิตเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นข้อจำกัดในการขนส่ง
เริ่มศึกษาหาแนวทางการพัฒนาเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร
เนื่องจากเห็นว่าผลผลิตมีความแปรปรวนสูง คือให้ผลผลิตเป็นบางต้นหรือบางกิ่งในต้นเดียวกันและการติดผลน้อย จึงจำเป็นต้องศึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาการผลิตลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 ให้กับเกษตรกรที่นำไปปลูกและพัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นคือให้ได้ผลผลิตสูงขึ้นและคุณภาพดีขึ้นด้วย
คุณนิยม เล่าต่อว่า ในปี 2554-2556 ได้ทำการทดสอบและพัฒนาการให้ปุ๋ย เราได้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต คือ เพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ด้วยการตัดแต่งกิ่งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ใส่ปุ๋ยอินทรีย์มูลสัตว์อัตรา 20-30 กก.ต่อต้น ปุ๋ยเคมี 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1: 1 โดยน้ำหนัก อัตรา 1-2 กก.ต่อต้น บำรุงต้นสูตร 15-15-15 + 46-0-0 + 0-0-60 สัดส่วน 1: 1 : 1 โดยน้ำหนัก อัตรา 2-3 กก.ต่อต้น เมื่อแตกใบอ่อนชุดที่ 3 และระยะติดผลเล็ก และใช้สูตร 13-13-21
อัตรา2-3กก.ต่อต้นก่อนการเก็บเกี่ยว 2สัปดาห์เพื่อบำรุงผลให้น้ำ 200-300 ลิตรต่อต้นต่อสัปดาห์ในระยะออกดอกและติดผลต้องป้องกันกำจัดศัตรูลิ้นจี่ตามคำแนะนำปรากฏว่าทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 16 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนักผลและเปอร์เซ็นต์เนื้อเพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ ความหวานเพิ่มขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์ จากการทดสอบและพัฒนาการให้ปุ๋ยดังกล่าว ทำให้ได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,260 กก.ต่อไร่ จำนวนผลต่อช่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 14
ต่อมาในปี 2557-2559 ศูนย์ฯ ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์การออกดอกติดผล เนื่องจากสภาพอากาศมีความแปรปรวนสูง พบว่าถ้าอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียสยาวนานต่อเนื่องกันประมาณ 12 สัปดาห์ มีผลให้สัดส่วนต้นที่ออกดอกสูงถึงร้อยละ 98 แต่ถ้าอุณหภูมิหนาวเย็นต่อเนื่องกันไม่นาน จะทำให้ออกดอกน้อย โดยเฉพาะในช่วงที่มีใบแก่จัดในช่วงพักตัวก่อนออกดอก เกษตรกรจึงควรเตรียมตัวให้พร้อมโดยเตรียมดินให้ลิ้นจี่มีใบแก่พร้อมกันในช่วงพักตัว คือ เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ก็จะทำให้ลิ้นจี่ออกดอก เมื่อได้รับสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงดังกล่าว
ในปี 2559-2560 ศูนย์ฯ ทำการทดสอบการตัดแต่งกิ่งรวมกับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน พบว่า ในปีที่ 1 การตัดแต่งกิ่งหลังการเก็บเกี่ยวเดือนพฤษภาคม โดยตัดเปิดกลางทรงพุ่มและตัดกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ ออกอย่างน้อยร้อยละ 30 ของกิ่งที่มีอยู่ทั้งหมด และหลังฤดูฝนช่วงเดือนตุลาคม ตัดแต่งกิ่งที่อยู่ภายในทรงพุ่มที่ไม่เหมาะสมออกเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่งโดยตัดแต่งเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของกิ่งที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อให้แดดส่องกลางทรงพุ่ม ในปีที่ 2 และปีที่ 3 หลังเก็บเกี่ยว ตัดแต่งกิ่งที่ผิดปกติและไม่สมบูรณ์ กิ่งที่ซ้อนกันออกอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์
หลังฤดูฝนช่วงเดือนตุลาคมตัดกิ่งที่อยู่ภายในทรงพุ่มที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่งโดยตัดแต่งเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ของกิ่งที่มีอยู่ทั้งหมด จากนั้นก็ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยแบ่งใส่ 4 ครั้ง/ปี ครั้งที่ 1 ใส่บำรุงต้น ระยะหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยใช้ปุ๋ย 46-0-0 อัตรา 1 กก. ต่อต้นในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ครั้งที่สอง ระยะก่อนออกดอก 1-2 เดือนใส่ปุ๋ย 8-24-24 ถ้าดินมีฟอสฟอรัสต่ำอัตรา 1 กก.ต่อต้น ครั้งที่สาม ระยะบำรุงผลใส่ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 1.5 กก.ต่อต้นถ้าฟอสฟอรัสต่ำและปุ๋ย 0-0-50 อัตรา 0.5 กก.ต่อต้นถ้าโพแตสเซียมต่ำ และครั้งที่สี่ ระยะปรับปรุงคุณภาพของผลคือก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน ใส่ปุ๋ย 0-0-50 อัตรา 1 กก.ต่อต้นถ้าโพแตสเซียมต่ำ จากการศึกษาวิจัยการตัดแต่งกิ่งร่วมกับการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ทำให้สัดส่วนของต้นที่ออกดอกเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 57
รักษาการ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม กล่าวอีก ลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 ยังมีปัญหาเรื่องหนอนเจาะขั้วผล เกษตรกรจึงไม่ค่อยมีความรู้ในการป้องกันกำจัดหนอนเจาะขั้วผล ดังนั้นจึงต้องหาวิธีป้องกันกำจัดหนอนในขณะที่ผลยังเล็ก เมื่อพบการทำลายมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ โดยนับสัปดาห์ละครั้งหลังติดผล 2 สัปดาห์ขึ้นไป ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงคาร์บาริล 85 % WP อัตรา 45 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไซฟลูทริน 5 % อีซี อัตรา 5 มิลลิกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร และในระยะผลโตหรือลิ้นจี่เริ่มเปลี่ยนสีหรือประมาณสัปดาห์ที่ 6-7 พ่นด้วยปิโตรเลียมออยล์ 83.9 % อีซี อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
ศึกษายืดอายุและการเก็บเกี่ยวเพื่อวางตลาด
“ ศูนย์ฯ มีเป้าหมายที่จะให้ลิ้นจี่พันธุ์ นพ. 1 ได้วางตลาดจำหน่ายไปยังตลาดต่างจังหวัดและต่างประเทศ จึงได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเก็บรักษาและยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 ได้ใช้วิธีแช่กรดเกลือ (HCL) เข้มข้น 5 % นาน 5 นาที การแช่กรดเกลือ (HCL) เข้มข้น 3 % + โซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ (SMS) เข้มข้น 1 % นาน 10 นาที และการแช่ในน้ำเย็นที่อุณหภูมิ 0-3 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที โดยเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องเย็น 5 องศาเซลเซรยส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-95 % จะสามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิต ลิ้นจี่ได้นาน 30 วัน และลดการเปลี่ยนสีของเปลือกจากสีแดงเป็นสีแดงคล้ำจนเป็นสีน้ำตาลได้ตลอดอายุการเก็บรักษาผลผลิตที่อุณหภูมิห้องเย็น 5 องศาเซลเซียสและความชื้นสัมพัทธ์ 90-95 % เมื่อเปรียบเทียบกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องปกติ”รักษาการ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม กล่าว
จัดทำชั้นมาตรฐานคุณภาพลิ้นจี่ นพ.1 เพื่อการส่งออก
เขา บอกด้วยว่า า ศูนย์ฯ ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีและเผยแพร่ผลงานการปลูกและการดูแลรักษาซึ่งเป็นผลงานวิจัยออกไปหลายรูปแบบ จนทำให้มีผู้สนใจปลูกลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 เพิ่มขึ้น จังหวัดนครพนมได้ส่งเสริมให้ขยายพื้นที่ที่ปลูกลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 เพื่อการส่งออกในปีงบประมาณ 2559-2560 มีเกษตรกรถึง 1,200 ราย พื้นที่ปลูก 1,200 ไร่ มีลิ้นจี่ 30,000 ต้น
เนื่องจากลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 ได้มีการจำหน่ายทั้งภายในจังหวัดและต่างจังหวัด และได้มีการส่งออกไปจนถึงต่างประเทศ ดังนั้น ศูนย์ฯ จึงได้จัดทำมาตรฐานสำหรับลิ้นจี่ นพ.1 ขึ้น โดยอ้างอิงและเทียบเคียงมาตรฐาน โดย มกอช. เพื่อใช้กำหนดมาตรฐานในการจำหน่ายและส่งออก
นายนิยม อธิบายว่า ลิ้นจี่ที่บริโภคสด แบ่งออกเป็น 3 ชั้นคุณภาพ คือ ชั้นพิเศษ ชั้นหนึ่ง และชั้นสอง ชั้นพิเศษ ขนาดผลต้องไม่น้อยกว่า 38 มิลลิเมตร ชั้นหนึ่ง ขนาดผลต้องไม่น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร ผิวผลมีตำหนิได้ไม่เกิน 0.25 ตร.ซม. ชั้นสอง ขนาดผลต้องไม่น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร ผิวผลมีตำหนิได้ไม่เกิน 0.5 ตร.ซม. ซึ่งสามารถใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิงเพื่อการส่งออก
อย่างไรก็ตามผลลิ้นจี่ต้องผ่านกระบวนการเก็บเกี่ยวและการดูแลภายหลังการเก็บเกี่ยวอย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้คุณภาพที่เหมาะสมกับพันธุ์และแหล่งผลิต ผลลิ้นจี่ต้องแก่ เปลือกผลมีสีแดงหรือแดงเข้ม ในกรณีที่ไม่มีการรมด้วยซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซต์ ผลต้องอยู่ในสภาพที่ยอมรับได้เมื่อถึงปลายทาง
ก.พาณิชย์รับขึ้นทะเบียนลิ้นจี่ นพ.1 เป็นผลไม้ GI ของชาวนครพนม
จากเดิมที การศึกษาวิจัยการพัฒนาลิ้นจี่จากที่ไม่มีใครรู้จัก จนกระทั่งเป็นลิ้นจี่ที่มีชื่อเสียง นพ.1 จนได้รับการรับรองจากกระทรวงพาณิชย์เมื่อปี 2556 เป็นผลไม้ GI เงินล้านของจังหวัดนครพนมและปี 2560 ได้รับการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ และการประชาสัมพันธ์ผลไม้ GI จากมหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน
“เรามีทีมงานวิจัยซึ่งเป็นอดีต ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนมเป็นผู้ริเริ่มและมีนักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษและนักวิชาการผู้ร่วมงานรวม 6 คน ได้แก่ นายปรีชา เชยชุ่ม นายชำนาญ กสิบาล น.ส.ชูศรี คำลี นางนิยม ไข่มุกข์ นายมะนิต สารุณา และนายปัญจพล สิริสุวรรณมา ใช้เวลาศึกษาวิจัยตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์ ในปี 2533-2535 และการพัฒนาการผลิตจนถึงการจัดการผลผลิตหลังเก็บเกี่ยว ในปี 2552-2560 รวมเป็นเวลาถึง 12 ปี ผลงานวิจัยนี้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างมาก สามารถสร้างอาชีพและรายได้เป็นกอบเป็นกำแก่เกษตรกรชาวนครพนม ทั้งจำหน่ายผลผลิตและต้นพันธุ์ ซึ่งมาจากผลงานวิจัยของนักวิชาการเกษตร ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม”
ปัจจุบันลิ้นจี่ นพ.1 เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ จีน เวียดนาม ซึ่งต้องการผลผลิตปีละ 500-1,000 ตัน แต่ผลผลิตยังไม่เพียงพอ ซึ่งจากข้อมูลของด่านตรวจพืชนครพนมมีการส่งออกลิ้นจี่ นพ.1 ช่วงระหว่างวันที่ 11-25 เมษายน 2557 จำนวนมากถึง 240 ตัน มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท คุณนิยม กล่าวอย่างภาคภูมิใจที่ลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 เป็นผลไม้ที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดนครพนม
ผู้สนใจเกี่ยวกับพันธุ์ ลิ้นจี่ นพ.1 การปลูกการเพิ่มผลผลิตและการดูแลรักษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 จ.ขอนแก่น โทรศัพท์/โทรสาร 0 4253 2586