เอฟเอโอ ชื่นชมเทคโนโลยีปราบหนอนกระทู้โพดฯของไทย ยกให้เป็นต้นแบบของอาเซียน

  •  
  •  
  •  
  •  

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ชื่นมเทคโนโลยีปราบหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดของไทย  ยกเป็นต้นแบบของอาเซียน และ แนะนำสมาชิกในภูมิภาคอื่นนำไปใช้ด้วย หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรประสบผลสำเร็จงานวิจัย สามารถเอาชนะมัจจุราชร้ายที่คร่าไร่ข้าวโพดได้หลายวิธี ล่าสุดพบทัพหนอนบุกลามถึงกระหน่ำกว่า 16 ประเทศในเอเชีย เผยเพื่อนบ้านแห่ขอความช่วยเหลือให้ส่งผู้เชี่ยวชาญเดินสายให้คำแนะนำ พร้อมขอใช้เทคโนโลยี ขณะที่ญี่ปุ่นอ้อนขอร่วมทำวิจัยด้วย

          นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ถึงแนวทางในการกำจัดและป้องกันหนอกระทู้ข้าวโพดหลายจุดที่กำลังระบาดในประเทศไทยว่า หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เป็นศัตรูต่างแดน ที่พบเข้ามาระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2561 โดยพบครั้งแรกในแหล่งปลูกข้าวโพดจังหวัดต่าง ๆ เช่น สุพรรณบุรี เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร สุพรรณบุรี และตาก ทำความเสียหายอย่างรุนแรงและรวดเร็ว และแพร่กระจายไปยังพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั่วประเทศกว่า 50 จังหวัด

        นับตั้งแต่พบการระบาดในประเทศไทยครั้งแรก กรมวิชาการเกษตรได้เร่งจัดทำโครงการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด รวม 17 การทดลอง ได้แก่ การทดสอบประสิทธิภาพสารเคมี การนำสารฟีโรโมนมาทดสอบ การควบคุมโดยชีววิธี การใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซิส เชื้อไวรัส NPV เชื้อรากำจัดแมลง และไส้เดือนฝอยกำจัดแมลง การใช้แมลงศัตรูธรรมชาติชนิดต่าง ๆ เช่น แตนเบียนไข่ แมลงหางหนีบ และมวนพิฆาต การใช้วิธีเขตกรรมและวิธีกล รวมทั้งเทคนิคการพ่นสารเคมี เพื่อให้ได้คำแนะนำสำหรับป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดที่เหมาะสมกับประเทศไทย รวมทั้งมีการศึกษาชีววิทยาและพืชอาศัยของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดในประเทศไทยด้วย

      การดำเนินการวิจัยของกรมวิชาการเกษตร จนได้เทคโนโลยีวิธีการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดด้วยวิธีการต่าง ๆ และได้จัดทำคำแนะนำการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดแบบผสมผสาน (IPM) สำหรับข้าวโพดชนิดต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพการปลูกข้าวโพดในประเทศไทยให้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร ผู้ประกอบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ซึ่งเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ที่กรมวิชาการเกษตรได้ถ่ายทอดให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา พม่า และฟิลิปปินส์ เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยประเทศดังกล่าวได้นำเทคโนโลยีคำแนะนำการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดไปใช้ รวมทั้งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ (FAO) ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าวไปแนะนำให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ในภูมิภาคใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืชชนิดนี้ด้วยเช่นกัน

     นาวสวาเสริมสุข กล่าวอีกว่า  ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมเรื่องระบบการเฝ้าระวังและป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้อย่างรวดเร็ว และยกให้ไทยเป็นต้นแบบของอาเซียน หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากประเทศไทย เช่น ประเทศอินโดนิเซียขอความช่วยเหลือผ่าน FAO ให้ประเทศไทยส่งผู้เชี่ยวชาญหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดไปให้คำแนะนำ ส่วนประเทศญี่ปุ่นได้มีการหารือเพื่อขอทำงานวิจัยร่วมกับประเทศไทย

      “หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของข้าวโพด สามารถระบาดข้ามพรมแดนได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากตัวเต็มวัยสามารถบินได้ไกลเฉลี่ย 100 กิโลเมตร/คืน และสามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ที่สำคัญคือมีพืชอาหารมากกว่า 80 ชนิด ตอนนี้มีรายงานการระบาดครั้งแรกในภาคกลางและภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกาในช่วงต้นปี 2559 หลังจากนั้นได้แพร่กระจายเกิดการระบาดในหลายประเทศเกือบทั่วทวีปแอฟริกา สำหรับในทวีปเอเชีย มีรายงานพบการระบาดครั้งแรกในปี 2561 ที่ประเทศอินเดีย หลังจากนั้นเป็นต้นมาหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้เคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือและทิศใต้ของเอเชียอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันพบการแพร่ระบาดถึง 16 ประเทศในเอเชียด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า