ที่แท้ “ข้าวสีม่วง”เป็น “ข้าวสรรพสี” ผลงานปรับปรุงพันธุ์ของ มก.

  •  
  •  
  •  
  •  

คงจะกระจ่างขึ้น ปม “ข้าวสีม่วง” นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรฯ ยืนยันเป็นข้าวสายพันธุ์ “สรรพสี” ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ภาควิชาพืชไร่ มก.ปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาจากการผสมของข้าวหอมนิล  ข้าวก่ำหอมนิล ข้าวก่ำดอยสะเก็ด และข้าวเจ้าหอมนิล ไม่ใช่ข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่กลายพันธุ์แต่อย่างใด

       ศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรกำแพงแสน จ.นครปฐม กล่าวถึงกรณีที่โลกออนไลน์เสนอข่าวมีการค้นพบข้าวพันธ์ุสีชมพู ที่จังหวัดพิษณุโลก และสันนิฐานว่า น่าจะเป็นพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่กลายพันธุ์ ว่า ไม่เป็นความจริง ไม่ใช้เป็นการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ หากแต่ว่าเป็นข้าวพันธุ์สรรพสี ที่ทางศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวพัฒนาขึ้นมา ข้าวที่สวยงามเหล่านี้มาจากศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว และหน่วยค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ได้ใช้กระบวนการอาบรังสีด้วย Fast Neutron มาตั้งแต่ปี 2552

       สำหรับข้าวสรรพสี ใช้ข้าวเจ้าหอมนิลจำนวน 1 แสนเมล็ด และทำการสร้างห้องสมุด ข้าวกลายพันธุ์ จำนวนมากกว่า 20,000 สายพันธุ์ ที่ค่อนข้างนิ่งเอาไว้ ในระหว่างนั้นก็ไม่พบข้าวใบสีม่วง-ชมพูแต่อย่างใด แต่พบการเกิดใบขาวขีดตามยาวแทรกตัวอยู่ระหว่างเส้นใบ สลับสีเขียวและได้แยกออกมา จนสม่ำเสมอให้ชื่อว่า เจ้าหอมนิลลายคาดขาว

       “นักปรับปรุงพันธุ์ของเรา ได้นำเอาข้าวเจ้าหอมนิลลายคาดขาวไปผสมพันธุ์ กับ ข้าวใบสีม่วงทั้งต้น คือ ข้าวก่ำหอมนิล ซึ่งเป็นลูกผสมของ ข้าวก่ำดอยสะเก็ด และข้าวเจ้าหอมนิล มาตั้งแต่ปี 2549 ทำการคัดเลือกรูปลักษณ์ เฉดสี รูปแบบ และทรงใบ ให้เหมาะสมกับการใช้ประดับ และตั้งชื่อว่า “ข้าวสรรพสี” ในระยะแรกได้พัฒนาสายพันธุ์นิ่งแล้วจำนวน 5 สายพันธุ์ในปี 2556” ศ.ดร.อภิชาติ กล่าว

 

     ส่วนสายพันธุ์ของข้าวสรรพสี มีลักษณะ ใบสีม่วง ชมพู ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวจึงเชื่อว่าข้าวใบสีม่วง ชมพู ที่พบในแปลงข้าวไรซ์เบอร์รี่ นั้นเกิดจากการปนของข้าวสรรพสี ไม่ใช่การกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ เพราะไม่เคยมีปรากฏว่าพบข้าวสีม่วง ชมพู ที่ไหนในโลกมาก่อน แม้จากข้าวก่ำพื้นเมืองที่มีสีม่วงเข้มทั้งต้นก็ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้

      ดั้นนั้นในมุมมองของความเป็นเจ้าของสายพันธุ์นั้น ผู้ค้นพบอาจขอคำแนะนำจาก สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ซึ่งดูแลเข้าถึงพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป และพันธุ์พืชใหม่ รวมทั้ง กองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ก่อนจะทำการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ได้อย่างถูกกฎหมายต่อไป