19 องค์กรเกษตรกร ประกาศฟ้องดะที่ลงนามแบน 3 สารเคมี- ร่วมสัตยาบันไม่เอา ปชป.

  •  
  •  
  •  
  •  

กลุ่มเกษตรกร 19 องค์กรเกษตรกรเอาจริง เล็งเดินฟ้องดะทุกราย ทุกกรมที่ร่วมลงนามห้ามใช้ พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส พร้อมร่วมประกาศสัตยาบัน ไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์ หากแบน 3 สารเคมีเพื่อการเกษตร ฉุนจัดหลังประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ระบุพบกันครั้งก่อนรับปากนำข้อมูลไปพิจารณาใหม่ แต่กลับเร่งลงนามประกาศแบน ประกาศ 26 พฤศจิกายน 2562 ทัพเกษตรกรรวมตัวนับพันคน หน้ากระทรวงเกษตรฯและทำเนียบรัฐบาล จะนอนค้างรอฟังผลมติ คกก.วัตถุอันตรายในวันถัดมา (27 พ.ย.62)

      วันที่ 25 พฤศจิกายน  2562 ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรจาก 19 องค์กรเกษตร ประกอบด้วย สมาพันธ์เกษตรปอลดภัย สมาคมเกษตรปลอดภัย สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร สภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ชมรมผู้ปลูกมะนาวแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรม สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนและมังคุดแห่งประเทศไทย สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน

        สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย สมาคมโรงงานแป้งมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เครือข่ายเกษตรกรผลไม้จังหวัดจันทบุรี กลุ่มเกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โคราช นครสวรรค์ และลพบุรี รวมประชุมกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กระทรวงกระทรวงเษตรฯ โดยมีตัวแทนของนายกรัฐมนตรี ร่วมด้วยเพื่อรับฟังความติดเห็นของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติห้ามใช้  3 เคมีเพื่อการเกษตรประกอบด้วย พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส

      นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เปิดเผยว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศ กระทรวงอุตสาหกรรม ยกเลิก 3 สารเคมีเกษตร ผลออกมาชัดเจนแล้วว่า ร้อยละ 75 ไม่ต้องการให้แบนสารเคมีเกษตร จากกลุ่มตัวอย่าง 48,789 ราย แต่ในความเป็นจริงมีเกษตรกรอีกกว่า 1.5 ล้านราย ได้แสดงความจำนงค์ต้องการใช้ และไม่ต้องการแบนผ่านการเข้ารับการอบรมเพื่อขอซื้อและใช้สารเคมีดังกล่าว ควรนับรวมเป็นคะแนนที่คัดค้านการแบน ซึ่งจะส่งผลให้รวมแล้วเกือบ 100% ไม่ต้องการให้แบนสารฯ ดังกล่าว

        ดังนั้น ผลการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา จำเป็นต้องนำมาพิจารณาใหม่ โดยระหว่างนี้ ขอให้กลับไปใช้มติเดิมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 และวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ที่อนุญาตให้ใช้ 3 สารดังกล่าวได้ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในปัจจุบันต่อระบบเกษตรกรรมของไทย และประเทศชาติ โดยขอให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการวัตถุอันตราย ผู้มีอำนาจลงนาม ต้องพิจารณาและตัดสินใจใหม่ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 นี้

     นอกจากนี้ ข้อเสนอของรัฐบาลที่ต้องการนำภาษีของประชาชนทั้งประเทศ มาใช้ในการจ่ายค่าชดเชยให้แก่เกษตรกรและจัดการปัญหาเรื่องสต็อกของสารเคมีเกษตร กลุ่มเกษตรกรทั้งหมดไม่เห็นด้วย และไม่ต้องการให้ภาครัฐนำภาษีประชาชนมาใช้จ่ายอย่างไร้เหตุผล เป็นการแก้ปัญหาที่เห็นแก่ตัวของภาครัฐ เพราะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมไทยอย่างยั่งยืน ในอดีต เกษตรกรเคยขอให้กระทรวงเกษตรฯ จัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรงบเพียง 90 กว่าล้านบาท แต่รัฐบาลไม่เคยสนใจ แต่ทำไมจึงเร่งรีบออกงบทำลายสารฯ กว่า 2 พันล้านบาท และงบชดเชยเกษตรกรกว่า 3 หมื่นล้านบาท หรือสนใจแต่งบก้อนใหญ่ ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรเห็นว่า การอบรมให้ความรู้และการควบคุมอย่างเคร่งครัด ตามมาตรการจำกัดการใช้เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเกษตรกรรมของประเทศ

        ด้านตัวแทน 4 สถาบันชาวไร่อ้อย กล่าวเสริมว่า สารเคมีเกษตรกรยังมีความจำเป็นต่อกลุ่มเกษตรกรอย่างยิ่ง ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพ หากจะมีวิธีการหรือสารเคมีอื่น จะต้องมีประสิทธิภาพ ต้นทุน เท่าเทียมหรือดีกว่า เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมเกษตร รวมทั้ง จะต้องมั่นใจได้ว่าวิธีการนั้น จะแก้ปัญหาได้จริง จึงจะสามารถแบนสารเคมีเกษตรได้

         ขณะที่นายภมร ศรีประเสริฐ อุปนายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ขอให้กลับไปใช้ มติเดิมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 และวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ซึ่งมีการพิจารณาผลกระทบด้านสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างรอบคอบมาแล้ว จนมีมติอนุญาตให้ใช้ 3 สารดังกล่าวได้ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้ ปัจจุบัน ยังไม่มีทางออกและข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน มติต่าง ๆ ขัดต่อการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศฯ และห้ามไม่ให้มีการเรียกร้อง หรือ การให้ข่าวที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศและการส่งออก ทำให้เกิดการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ

       การที่รัฐยกเลิกใช้สารพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส โดยอ้างว่าห่วงสุขภาพเกษตรกร และประชาชน แต่ยังแนะนำให้ใช้สารเคมีมาแทนสารเคมี ยังให้นำเข้าพืช ผักและผลไม้จากต่างประเทศ ที่ยังใช้สารเคมีทั้งสามชนิด หากสารเคมีเหล่านี้เป็นพิษ ทำไมประชาชนคนไทยยังต้องบริโภคพืช ผัก ผลไม้ จากประเทศอื่นที่ใช้ หากรักสุขภาพประชาชนจริงต้องแบนพืช ผัก ผลไม้ ทุกประเทศที่ใช้สารเคมีทั้งสามชนิด ตั้งแต่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อเมริกา รวมอีก 83 ประเทศทั่วโลก

       “วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายนนี้ จะเป็นอีกหนึ่งวันที่กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจะมาร่วมแสดงพลัง สะท้อนให้ภาครัฐได้เห็นถึงผลกระทบของการแบนสามสารเคมีเกษตรที่มีต่อเกษตรกรพืชไร่และไม้ผลต่าง ๆ เบื้องต้น เกษตรกรกว่า 5,000 รายเตรียมเดินทางมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทำเนียบรัฐบาลแล้ว หวังว่า จะไม่โดนหน่วยงานภาครัฐสกัดกั้นเช่นในอดีตที่ผ่านมา” นายสุกรรณ์ กล่าวและว่า ส่วนวันพุธที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เกษตรกรจะยังคงปักหลักอยู่กรุงเทพฯ และเดินทางไปรับฟังผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่อีกครั้งที่ กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป

     ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจ รมว. เกษตรฯ รมว. อุตสาหกรรม และคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้พิจารณาอย่างรอบคอบและกลับไปใช้มาตรการจำกัดการใช้ฯ ตามข้อเสนอของเกษตรกรกว่า 1.5 ล้านราย ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง เกือบ 2 ล้านล้านบาท ไม่เช่นนั้น เกษตกรคงต้องพึ่งศาลยุติธรรมเอาผิดกับผู้ลงนามทุกราย ทุกกรม ทุกกระทรวง และนักวิชาการอิสระ พร้อมประกาศแบน พรรคประชาธิปัตย์ด้วยในการเลือกตั้งสมัยหน้า