แล้งนี้วิกฤตนัก “ประพัฒน์”จี้รัฐ บอกความจริงมีน้ำสำหรับเพาะปลูกหรือไม่?

  •  
  •  
  •  
  •  

ประธานสภาเกษตรกรฯ จี้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง บอกความจริงถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ว่าจะสามารถเพาะปลูกได้หรือไม่  หลังพบว่าเลขน้ำในอ่างเก็บน้ำภาพรวมเหลือว่ากว่า 20 %เท่านั้น  ระบุหากเกษตรกรลุงทุนไปแล้วกลับไม่น้ำจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจโดยรวม วอนเกษตรกรให้วางแผนอย่างรัดกุมก่อนลงทุน

       นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันว่า  รู้สึกเป็นห่วงเกษตรกร จึงขออนุญาตแจ้งเตือนไปยังพี่น้องเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศว่า ปีนี้เป็นปีที่สถานการณ์น้ำวิกฤตมากกว่าปีที่แล้ว หากดูจากตัวเลขน้ำในอ่างเก็บน้ำโดยเฉลี่ยเหลือ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น  บางอ่างเก็บน้ำต้องใช้ Dead Storage หรือน้ำก้นอ่างแล้ว เชื่อว่าฤดูแล้งปีนี้จะส่งผลทำให้เกิดปัญหาตามมาเยอะมาก

     ดังนั้นจึงขอวิงวอนให้กระทรวง ทบวง  กรม  ที่เกี่ยวข้องรีบทำแผนรองรับวิกฤตนี้โดยด่วนซึ่งยังพอมีเวลาเหลืออีก 2-3 เดือน และต้องบอกความจริงกับเกษตรกร ที่ได้เตรียมการเพาะปลูกอยู่ว่า สถานการณ์น้ำวิกฤตแบบนี้ยังจะสามารถเพาะปลูกต่อไปได้หรือไม่ ยังพอแบ่งปันน้ำลงในพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกรได้หรือไม่  เพื่อเกษตรกรจะได้เตรียมแผนรับมือสถานการณ์วิกฤตินี้ด้วยตนเองได้

      “ อย่าปล่อยให้สถานการณ์น้ำวิกฤติลุกลาม เกษตรกรไม่มีข้อมูลลงมือเพาะปลูก หว่านไถ แล้วจึงรู้ว่า ไม่มีน้ำเพื่อการเพาะปลูก  หรือบางคนลงทุนลงแรงไปแล้ว ก็จะมีปัญหาทำให้เสียทรัพย์ ในที่สุดจะเกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจตามมาแน่นอน ” นายประพัฒน์ กล่าว

           ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวอีกไปว่า พื้นที่ชลประทานเชื่อมั่นว่า ต้องมีปัญหาการจัดการน้ำแน่ ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทานขณะนี้แล้งจริงจัง ตามไร่ ตามนาเริ่มแห้งขอด ตอนนี้ปลายฝนอยู่ยังพอมีน้ำตามผิวดิน ตามไร่นายังพอมีน้ำเก็บอยู่ แต่เมื่อถึงเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม อาจจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ด้วยซ้ำไป ถึงเวลานั้นพื้นที่ต่างๆก็จะเริ่มแห้งขอด หากเกษตรกรเพาะปลูกไปแล้วไม่มีน้ำผลผลิตก็จะเสียหาย

     ดังนั้นจึงฝากไว้ว่าเกษตรกรต้องตั้งสติ ตั้งรับ ทำแผน วิธีการในสถานการณ์อย่างนี้คือต้องไม่ลงทุน อย่าเสี่ยงลงทุนเพาะปลูกโดยที่ไม่เห็นอนาคต ใช้จ่ายเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ควรนำเม็ดเงินที่เหลืออยู่น้อยไปลงทุนเพิ่มจนกว่าจะมั่นใจว่ามีน้ำให้กิจกรรมเพาะปลูกได้  หรือหากิจกรรมอื่นที่ไม่ใช้น้ำหรือใช้น้ำน้อยที่สุด กิจกรรมเดิมที่ต้องใช้น้ำเยอะควรระงับ เช่น การทำนาปรังในพื้นที่ปลายท้ายน้ำเพราะการส่งน้ำอาจมาไม่ถึง ท้ายสุดชาวนาก็ต้องแย่งน้ำกันเอง

      อย่างไรก็ตาม สภาเกษตรกรฯ ได้เรียกร้องเสนอไปทางรัฐบาลนานแล้วว่าควรมีกองทุนเพื่อการปรับเปลี่ยนการผลิตปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำมาก เพื่อจะให้เกษตรกรสามารถเอาเม็ดเงินต่างๆที่ต้นทุนต่ำมาเริ่มปรับโครงสร้างการผลิต เช่น การปลูกไผ่ การทำปศุสัตว์ การปลูกไม้ยืนต้นอายุยืนยาว การทำสวนผลไม้ ซึ่งต้องใช้เวลา 5-6 ปีถึงจะได้เม็ดเงินคืนมา หากเกษตรกรรายใดมีขีดความสามารถจะปรับเปลี่ยนการผลิตของตัวเองได้ให้ลงมือทำได้เลย