กรมวิชาการเกษตร เปิดตัวมะเขือเทศสีดารับประทานผลสด หลังประสบผลสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์ จนได้พันธุ์ใหม่ “ศรีสะเกษ 2” ให้ผลผลิตเฉลี่ยตกไร่ละสูงถึง 6.62 ตันรสเปรี้ยวนำ มีวิตามินซีสูง โดนใจสายคนสุขภาพ เหมาะสำหรับทำส้มตำ
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า มะเขือเทศสีดาเป็นมะเขือเทศที่มีสีแดงอมชมพู มีน้ำมาก เนื้อหนาและแน่น น้ำหนักเฉลี่ย 40 กรัม ผลมะเขือเทศสีดาปลูกและผลิตได้ตลอดปีในทุกภาคของประเทศไทย โดยมีแหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครพนม สระบุรี และนครราชสีมา
สำหรับพันธุ์การค้าของมะเขือเทศสีดา ที่เกษตรกรปลูกกันแพร่หลายในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ลูกผสมที่เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ของบริษัทเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ แต่เนื่องจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม มีกระบวนการที่ซับซ้อนและเป็นผลประโยชน์ทางการค้า ทำให้เมล็ดพันธุ์มะเขือเทศสีดาลูกผสมมีราคาสูงกว่าเมล็ดพันธุ์ผสมเปิดถึง 7.5 เท่า หรือสูงกว่า 600 บาท/ไร่
ดังนั้นทางศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตร ได้ผสมพันธุ์และคัดพันธุ์มะเขือเทศสีดาสำหรับปลูกในฤดูฝน โดยสามารถคัดเลือกได้พันธุ์ ศก.1 ศก.4 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ติดผลเร็ว ผลมีสีชมพู และพันธุ์ศก.19 มีความทนทานต่อโรคเหี่ยวเขียว แต่เนื่องจากพันธุ์ดังกล่าวเป็นพันธุ์ที่พัฒนามานานแล้ว ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป รวมถึงการผสมตัวเองในกลุ่มพันธุ์เดิมมานาน ทำให้ศักยภาพการผลิตลดลง พันธุ์อ่อนแอต่อสภาพแวดล้อม โรคและแมลง ทางศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษจึงได้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศสีดาพันธุ์ผสมเปิดขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีผลผลิตและวิตามันซีสูง มีความสม่ำเสมอของสายพันธุ์ เกษตรกรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เอง ช่วยลดต้นทุนด้านเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร เป็นการเพิ่มรายได้ที่ยั่งยืนให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง
“การปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศสีดารับประทานผลสด เริ่มดำเนินการตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ในปี 2555–2558 ได้ทำการรวบรวม คัดเลือกพันธุ์ ปี 2559–2560 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิต ปลูกเปรียบเทียบและทดสอบพันธุ์กับพันธุ์ลูกผสมการค้า ทดสอบพันธุ์ในไร่เกษตรกรตามแหล่งปลูกต่าง ๆ วิเคราะห์ปริมาณวิตามินซี และการประเมินความพึงพอใจของเกษตรกรผู้ปลูกและผู้บริโภคมะเขือเทศสีดา จนได้มะเขือเทศสีดารับประทานผลสดพันธุ์ใหม่ใช้ชื่อว่า “พันธุ์ศรีสะเกษ 2”ผ่านการพิจารณาเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562” นางสาวเสริมสุข กล่าว
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า มะเขือเทศสีดาพันธุ์ศรีสะเกษ 2 มีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 6.62 ตัน/ไร่ สูงกว่าพันธุ์การค้าลูกผสมและพันธุ์ของเกษตรกร มีปริมาณวิตามินซีสูงถึง 43.3 mg/100g ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้สูงถึงร้อยละ 0.93 ทำให้มีรสเปรี้ยว นับว่าเป็นข้อดีเด่นเนื่องจากการใช้ประโยชน์ของมะเขือเทศสีดาจะเน้นหนักไปในด้านของการใช้ปรุงรสอาหารให้มีความเปรี้ยว เช่น ส้มตำ
อน่างไรก็ตาม จากการประเมินความพึงพอใจของเกษตรกรผู้ปลูกและผู้บริโภคมะเขือเทศสีดาในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ พบว่าเกษตรกรที่มีความพอใจมะเขือเทศสีดาพันธุ์ศรีสะเกษ 2 สูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษมีเมล็ดพันธุ์คัดมะเขือเทศสีดาศรีสะเกษ 2 จำนวน 3 กิโลกรัม ซึ่งสามารถนำไปปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์หลักได้พื้นที่ประมาณ 30 ไร่ เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ โทรศัพท์ 0-4551-4581