เปิดวอร์รูม สั่ง 11 จังหวัดตัดวงจรระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง

  •  
  •  
  •  
  •  

เข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง ลงพื้นที่การระบาดของโรคใบด่างในมันสำปะหลัง

“เฉลิมชัย” มอบหมาย “อลงกรณ์ พลบุตร” เป็นเจ้าภาพแก้ปัญหาโรคระบาดในมันสำปะหลังให้หมดสิ้น กรมวิชาการเกษตรรับลูกเปิดวอร์รูม สั่ง 11 จังหวัด ให้เกษตรจังหวัดตัดวงจรระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง พร้อมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ และดำเนินการป้องกันอย่างใกล้ชิด แนะ 2 วิธี ป้องกันและกำจัด ต้องสำรวจและชี้เป้าพื้นที่ระบาด และหากพบอาการลักษณะคล้ายเป็นโรคใบด่างให้เก็บตัวอย่างส่งพิสูจน์ทันที ส่วนเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายรัฐเตรียมชดเชยรายได้ไร่ละ 3,000 บาท

       ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมาย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กำกับและดูแลตัดวงจรระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง ให้หมดสิ้น รวมทั้งปฏิบัติตามระเบียบทางราชการอย่างเคร่งครัด พร้อมสั่งการให้ทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง อีก 50 จังหวัด เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

       ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับการจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกมัน ในขณะนี้ ได้เปิด วอร์รูม เพื่อสั่งการให้ เกษตรจังหวัด ทั้ง 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี นครราชสีมา สระแก้ว สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ที่พบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง จัดการทำลายและเยียวยาเกษตรกร

          สำหรับการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง จะดำเนินการ ดังนี้ 1. การสำรวจและชี้เป้าพื้นที่ระบาด โดยมีเจ้าหน้าที่เกษตร เกษตรกร เครือข่ายอกม. ร่วมกันสำรวจพื้นที่ที่ปลูกมันสำปะหลัง 2. หากพบการลักษณะคล้ายเป็นโรคใบด่างให้เก็บตัวอย่างส่งพิสูจน์ความเป็นโรค ทั้งนี้ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช (สอพ.) กรมวิชาการเกษตร ตรวจวินิจฉัยตัวอย่าง ซึ่งจะทราบผลภายใน 3 วัน ทั้งนี้ พื้นที่ที่วินิจฉัยว่าเป็นโรคจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปจัดการทำลายต้นมันสำปะหลังเป็นโรคใบด่างมันสำปะหลัง และจะทำลายตามหลักวิชาการอย่างถูกต้อง ซึ่งหลังจากการทำลาย เกษตรกรจะต้องพักแปลง 2 เดือน

         ทั้งนี้ รัฐได้เตรียมชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบ ไร่ละ 3,000 บาท นอกจากนี้ ในพื้นที่ 50 จังหวัดที่มีการปลูกมันสำปะหลัง จะส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ท่อนพันธุ์สะอาดพร้อมใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุมการนำเข้าท่อนพันธุ์จากต่างประเทศและการขนย้ายท่อนพันธุ์ภายในประเทศ รวมทั้งติดตามสถานการณ์การระบาดของใบด่างมันสำปะหลัง อย่างใกล้ชิด เพื่อให้โรคมหันตภัยร้ายนี้ไม่ลุกลามและจัดการให้หมดสิ้น

         ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่จะได้รับการชดเชย ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) กับกรมส่งเสริมการเกษตร และเป็นแปลงมันสำปะหลังที่ปลูกในช่วงเดือนเมษายน – 30 กันยายน 2562 และระยะเวลาแจ้งข้อมูลการพบต้นมันสำปะหลังที่แสดงอาการใบด่าง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 30 มิถุนายน 2563 เท่านั้น