กรมชลฯจัดสรรน้ำเพื่อเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 62/63 ย้ำทุกภาคส่วนต้องประหยัดน้ำ

  •  
  •  
  •  
  •  


กรมชลประทาน วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 ย้ำทุกฝ่ายต้องร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด และเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งหน้าต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

     ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆ หลายแห่งอยู่ในเกณฑ์น้อย บางแห่งสามารถสนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น จึงได้สั่งการผ่านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำแผนการจัดสรรน้ำ การจัดหาแหล่งน้ำสำรอง และการวางแผนการเพาะ ปลูกพืชฤดูแล้งให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำต้นทุนที่มีอยู่ พร้อมเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนให้มากที่สุด

      อย่างวไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะทำงานวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ได้วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 โดยกรมชลประทาน ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 พ.ย. 62 คาดว่าจะมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 30,126 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) แบ่งเป็นการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 (เริ่ม 1 พ.ย. 62 – 30 เม.ย. 63) จำนวน 17,587 ล้าน ลบ.ม. (เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 5,934 ล้าน ลบ.ม.) ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 12,539 ล้าน ลบ.ม. จะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2563 (พ.ค.-ก.ค. 63)

       ด้าน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางในการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ว่า กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักที่มีอยู่ขณะนี้ เพียงพอที่จะสนับสนุนเฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และไม้ผลไม้ยืนต้น เท่านั้น จึงต้องวางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างรัดกุม และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้ปฏิบัติตามแผนฯอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอไม่ขาดแคลน    ทั้งนี้ ได้กำหนดมาตรการในการบริหารจัดการน้ำ โดยกำหนดให้ประตูระบายน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำต่างๆในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เปิดรับน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภค เป็นครั้งคราว

       สำหรับลำน้ำหรือคลองส่งน้ำ ให้รับน้ำเข้าในเกณฑ์ต่ำสุด เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลิ่งลำน้ำเท่าที่มีความจำเป็น พร้อมทั้งขอความร่วมมือไม่ให้ปิดกั้นหรือสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก โดยให้ยึดตามปฏิทินการสูบน้ำที่กรมชลประทานวางแผนรอบเวรการสูบน้ำไว้แล้ว ส่วนสถานีสูบน้ำของการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนท้องถิ่น สามารถทำการสูบน้ำได้ตามปกติ ตามแผนการสูบน้ำที่ได้เสนอกรมชลประทานไว้แล้วก่อนหน้านี้

      นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือให้ลดการเพาะเลี้ยงในบ่อปลา บ่อกุ้ง เขตโครงการชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมไปถึงการเพาะเลี้ยงปลาในกระชัง ในแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน และในระบบชลประทาน ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 30 เมษายน 2563 พร้อมทั้งให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คู คลองและแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการระบายน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อเจือจางน้ำเสีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำที่ต้องสำรองไว้ให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศตลอดฤดูแล้งนี้และต้นฤดูฝนหน้า ส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง ปริมาณน้ำในเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562/63 ได้ และสำรองน้ำไว้เพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปีฤดูกาลผลิต ปี 2563 ได้อย่างเพียงพอ

      ทั้งนี้ ยังมีพื้นที่ด้านท้ายของอ่างเก็บน้ำอีกหลายแห่ง ที่สนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น อาทิ เขื่อนแม่มอก จังหวัดลำปาง เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ เขื่อนลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา เขื่อนมูลบน จังหวัดนครราชสีมา และเขื่อนลำแซะ จังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากมีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย

      ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อย แต่ยังพอที่จะสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย(พืชไร่-พืชผักและพืชอื่นๆ) ได้แก่ เขื่อนแม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ เขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี เขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เขื่อนลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี เขื่อนสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา และเขื่อนประแสร์ จังหวัดระยอง ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน

       สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศได้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกไว้ทั้งสิ้น 7.21 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าวนาปรัง(นารอบที่ 2) 4.54 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก 2.67 ล้านไร่ โดยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในเขตชลประทานไม่ส่งเสริมการเพาะปลูกพืช เนื่องจากน้ำต้นทุน ใน 4 เขื่อนหลัก อยู่ในเกณฑ์น้อย ต้องคงไว้สนับสนุนการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน กำหนดไว้ 1.64 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าว 1.05 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก 0.59 ล้านไร่ ส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง 1.12 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าว 0.86 ล้านไร่ และพืชไรพืชผัก 0.26 ล้านไร่
ทั้งนี้ เพื่อไม่เกิดผลเสียหายต่อเกษตรกร จึงขอให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการในพื้นที่ พร้อมทั้งขอให้ติดตามข่าวจากทางราชการอย่างใกล้ชิด รวมทั้ง ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ หากประชาชนหรือเกษรกร มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องน้ำ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ในวันและเวลาราชการ