แนะ 3 ขั้นตอนขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ย้ำต้องมึวามปลอดภัย

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมวิชาการเกษตร แนะ 3 ขั้นตอนขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์ “ต้องผ่านการประเมินข้อมูลพิษวิทยา- ขอนำเข้าหรือผลิตตัวอย่าง -การทดลองประสิทธิภาพW ย้ำจุดยืนเกณฑ์การขึ้นทะเบียนที่ผ่านมาให้ความสำคัญสารชีวภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับแรก

        นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยถึงขั้นตอนการขึ้นทะเบียนสารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ว่า มีการพิจารณาจากหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ การประเมินข้อมูลพิษวิทยา การขอนำเข้าหรือผลิตตัวอย่างเพื่อวิเคราะห์คุณภาพของผลิตภัณฑ์ และการทำการทดลองประสิทธิภาพ ซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนตามขั้นตอนดังกล่าว เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้สารที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการกำจัดศัตรูพืช ป้องกันไม่ให้ผลผลิตเสียหาย และที่สำคัญต้องเป็นสารที่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

         ขั้นตอนที่ 1 การประเมินข้อมูลพิษวิทยาคณะทำงานเพื่อพิจารณาชีวภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากพืชที่ใช้ควบคุมศัตรูพืช จะประเมินข้อมูลพิษวิทยาที่สำคัญ ได้แก่ คุณสมบัติทางกายภาพ เคมี และด้านเทคนิคของชีวภัณฑ์ พิษวิทยาและข้อมูลการรับสัมผัส สารพิษตกค้างใน/บนผลิตภัณฑ์อาหารและสิ่งแวดล้อม ผลของชีวภัณฑ์ต่อสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่เป้าหมาย กรรมวิธีการผลิตและแหล่งที่มาของเชื้อ

         ขั้นตอนที่ 2 การขอนำเข้าหรือผลิตตัวอย่าง เพื่อวิเคราะห์คุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยผู้ประกอบการต้องยื่นคำขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าตัวอย่างวัตถุอันตรายซึ่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์จะแบ่งเป็น 2 ส่วนเพื่อวิเคราะห์ตามข้อกำหนดของวัตถุอันตราย และเพื่อทดสอบประสิทธิภาพเมื่อผล วิเคราะห์ตรงตามมาตรฐานผู้ประกอบการต้องนำตัวอย่างไปทดลองประสิทธิภาพภายใต้การควบคุมของนักวิชาการกรมวิชาการเกษตร

        ขั้นตอนที่ 3 การทดลองประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการต้องยื่นคำขออนุญาตทำการทดลองประสิทธิภาพวัตถุอันตรายขั้นการทดลองเบื้องต้นและแผนการทดสอบประสิทธิภาพเมื่อการทดลองสิ้นสุด ให้ส่งรายงานผลการทดลองประสิทธิภาพ พร้อมข้อความที่ขอระบุในฉลากที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว หากการดำเนินการดังกล่าวผ่านการพิจารณาผู้ประกอบการทำต้องหนังสือส่งผลการประเมินข้อมูลพิษวิทยาผลการทดลองประสิทธิภาพและผลวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ยื่นที่กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร เพื่อนำเสนอข้อมูลต่อคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร หากคณะอนุกรรมการฯ เห็นควรให้ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย พนักงานเจ้าหน้าที่จะออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายให้แก่ผู้ประกอบการต่อไป

       อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนฯ ได้ให้ความสำคัญกับการพิจารณาขึ้นทะเบียนกลุ่มวัตถุอันตรายที่มีความปลอดภัยในทุกด้าน ได้แก่ สารสกัดจากธรรมชาติ สารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช เป็นลำดับแรก ซึ่งปัจจุบันมีสารชีวภัณฑ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตรแล้วจำนวน 73 ทะเบียน ดังนี้

        Bacillus thuringiensis จำนวน 57 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดหนอนใยผัก หนอนกระทู้ หนอนเจาะฝักลายจุด และหนอนหัวดำBacillus amyloliquefaciensจำนวน 1 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนสในพริก Bacillus subtilisจำนวน 8 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดโรคกาบใบแห้งในข้าว และโรคแอนแทรคโนสในพริก Beauveria bassianaจำนวน 2 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาวMetarhiziumanisopliae จำนวน 2 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่นฝ้ายในมะเขือเปราะ Nuclear Polyhedrosis Virus (NPV) จำนวน 1 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดหนอนกระทู้หอม และTrichoderma harzianumจำนวน 2 ทะเบียน ใช้ป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนสในพริก

       “การขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย คือการพิจารณาเพื่อเลือกที่จะใช้วัตถุอันตรายชนิดใดชนิดหนึ่งในประเทศ โดยการประเมินประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งผู้ขอขึ้นทะเบียนทุกรายจะต้องทำการทดลองประสิทธิภาพกับพืชและศัตรูพืชตามที่ระบุไว้ในฉลาก เพื่อพิสูจน์ว่าวัตถุอันตรายที่ขอขึ้นทะเบียนสามารถใช้ได้ผลจริงในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ที่สำคัญจะต้องผ่านการประเมินข้อมูลพิษวิทยา เพื่อความปลอดภัยของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว