มก.เก็บเกียวแล้ว!! กัญชาล๊อตแรก 330 ต้น เผย 6 เคล็ดลับปลูกโตเร็วก่อนกำหนด

  •  
  •  
  •  
  •  

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สกลนคร ได้ฤกษ์งาม ยามดี จู่โจมเช้ามืด เก็บเกียวกัญชาล๊อตแรก 330 ต้น ได้ 30 กิโลกัมม จากโครงการโครงการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมพืชกัญชาทางการแพทย์ เผยจะสามารถผลิตยาศุขไสยาศน์ได้ 4,000 ซอง ยาแก้ลมแก้เส้น 4,000 ซอง และยาแก้โรคจิตจำนวน 5,000 ซอง คาย 6 เคล็ดลับปลูกพืชกัญชาให้เติบโตสมบูรณ์ดี ตามมาตรฐานGACP  ระบุหลังจากที่ได้มีการย้ายปลูกต้นกล้ากัญชามาไว้ที่โรงเรือน ได้เพียง 5 สัปดาห์ สามารถเก็บเกียวได้ก่อนกำหนด 1 เดือน

       เมื่อเวลา  04.30 น.วันที่ 29 ตุลาคม 2562 ทีมงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ได้ฤกษ์งาม ยามดีเข้าเก็บเกี่ยวใบและก้านใบกัญชา ซึ่งเป็นผลิตผลรอบแรกของโครงการโครงการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมพืชกัญชาทางการแพทย์ ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เพื่อนำไปผลิตยาแผนไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 30 กิโลกรัม จากต้นกัญชา 330 ต้น ซึ่งส่วนใบกัญชาเหล่านี้ จะนำไปเข้าตำรับยาศุขไสยาศน์ และยาแก้ลมแก้เส้น และส่วนของก้านใบกัญชา จะนำไปเข้าตำรับยาแก้โรคจิต ซึ่งวัตถุดิบที่ได้ในวันนี้คาดว่าจะสามารถผลิตยาศุขไสยาศน์ได้ 4,000 ซอง ยาแก้ลมแก้เส้น 4,000 ซอง และยาแก้โรคจิตจำนวน 5,000 ซอง

      ผศ.ดร.วัชรพงษ์ อินทรวงศ์ รองอธิการบดีมหาวทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมพืชกัญชาทางการแพทย์ว่า กัญชาในรอบนี้ได้ถูกวางแผนการปลูกเพื่อให้ได้วัตถุดิบสำคัญ 4 ส่วนคือ ดอก ใบ ก้านใบและราก นับตั้งแต่ย้ายปลูกต้นกล้ากัญชาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 จนถึงวันนี้รวมระยะเวลาประมาณ 5 สัปดาห์ ต้นกัญชามีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ดี ใบและก้านใบพร้อมส่งต่อให้โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เพื่อนำไปผลิตเป็นยาแผนไทย โดยทีมงานได้เก็บข้อมูลการปลูกเพื่อถอดองค์ความรู้ที่ได้เป็นต้นแบบและคู่มือการปลูกกัญชาทางการแพทย์ตามมาตรฐาน GACP และเปิดสอนให้วิสาหกิจชุมชนในรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการต่อไป

        ด้าน ดร.ศุภสิทธิ์ สิทธาพานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกกัญชา กล่าวว่า ใบที่ใช้เป็นใบที่มีขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือ ต้องเก็บรุ่งเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และได้รับความร่วมมือกับทีมงานจากโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้นฯ ร่วมเก็บผลผลิตในครั้งนี้ โดยจะเก็บในส่วนใบก่อน ส่วนอื่นๆ จะดำเนินการในครั้งต่อๆไป

        ขณะที่ ดร.ณธกร ทัศนัส ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมพืชกัญชาและพืชเสพติดสมุนไพรทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า ใบกัญชาที่ปลูกโตเร็วมาก และเก็บได้เร็วกว่าที่กำหนด 1 เดือน ซึ่งเดิมกำหนดว่าจะเก็บในเดือนมกราคม 2563

      ส่วน พญ.กัญญาภัค ศิลารักษ์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร กล่าวว่า จะนำวัตถุดิบกัญชาที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในล๊อตแรกนี้ ซึ่งได้ทำการเก็บเกี่ยวในส่วนของใบและก้านใบ ไปคัดแยกในส่วนของใบและก้านใบเพื่อในไปเข้าตำรับยากัญชาที่โรงพยาบาลได้รับอนุญาตให้ผลิตจำนวน 3 ตำรับได้แก่ ส่วนใบ นำไปใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาศุขไสยาศน์ และยาแก้ลมแก้เส้น  และส่วนของก้านใบ จะนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาแก้โรคจิต ซึ่งวัตถุดิบที่ได้ในวันนี้คาดว่าจะสามารถผลิตยาศุขไสยาศน์ได้ 4,000 ซอง ยาแก้ลมแก้เส้น 4,000 ซอง และยาแก้โรคจิตจำนวน 5,000 ซอง

       ข้อมูลจาก ดร. เจษฎา ภัทรเลอพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญสรีรวิทยาการผลิตพืชกัญชาของทีมงานมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ ระบุว่า พืชกัญชามีการเจริญเติบโตที่ดี มีความสูงมากกว่า 1.50 เมตร หลังย้ายปลูก 1 เดือน คิดเป็นการเติบโตด้านความสูงเฉลี่ย วันละ 3 เซนติเมตร             เคล็ดลับที่สำคัญมีดังนี้

      1.การเพาะเมล็ดได้ดี โดยใช้วัสดุเพาะเป็นพีทมอส ซึ่งมีคุณสมบัติดูดน้ำได้ดี แต่มีความโปร่งและระบายน้ำดี และมีธาตุอาหารครบถ้วนในตัวเอง เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้ากัญชา ทำให้เมล็ดกัญชางอก และกล้าเติบโตดี

       2.การย้ายปลูกในระยะเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากการเพาะกล้าทำในถาดเพาะซึ่งแต่ละหลุมเพาะมีวัสดุเพาะในจำนวนจำกัด ถึงแม้วัสดุเพาะจะมีธาตุอาหารครบถ้วน แต่เมื่อต้นกล้าเติบโตขึ้นธาตุอาหารในหลุมเพาะไม่เพียงจะทำให้ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโตเมื่อย้ายปลูก และต้องใช้เวลานานกว่าต้นกล้าจะตั้งตัวได้ หรือเสี่ยงที่ต้นกล้าจะแคระแกร็นไม่เจริญเติบโตอีกเลย

        3.การใช้วัสดุปลูกมีความโปร่งระบายน้ำดี และมีธาตุอาหารสมบูรณ์ เลือกใช้ดินผสมปุ๋ยหมัก  โดยดินเป็นแหล่งของธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง และการใช้ปุ๋ยหมักเพื่อเป็นแหล่งของจุลธาตุ และปรับสภาพทางกายภาพให้มีความโปร่ง เนื่องกัญชาเป็นพืชไม่มีเนื้อไม้ ระบบรากไม่แข็งแรง ต้องการดินที่โปร่งระบายน้ำดี

        4.การให้น้ำด้วยระบบอัตโนมัติ ให้ทีละน้อยแต่ให้บ่อยๆ ทำให้ต้นกัญชาได้รับน้ำอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็รักษาระดับความชื้นของดินไม่ให้สูงเกินไป ต้นกัญชาไม่เกิดสภาวะเครียดแม้ในช่วงบ่าย จึงเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

       5.การให้ปุ๋ยไปพร้อมน้ำ (Fertigation) ทำให้ต้นกัญชาได้รับปุ๋ยต่อเนื่องตลอดเวลาและเพียงพอ เนื่องจากต้นกัญชาโตเร็วมากกว่าต้นพืชทั่วๆ ไป จึงมีความต้องการธาตุอาหารมากตามไปด้วย การปลูกกัญชาในภาชนะปลูกซึ่งมีปริมาตรของวัสดุปลูกจำกัด จึงมีธาตุอาหารจำกัด การให้ปุ๋ยพร้อมกับการให้น้ำจึงช่วยเสริมให้ต้นกัญชาได้รับธาตุอาหารอย่างเพียงพอตลอดเวลา

      6.การให้แสงเสริม เพิ่มจากแสงธรรมชาติ ช่วยยืดระยะเวลาในการสร้างอาหารผ่านกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง เพิ่มการเติบโต และบังคับไม่ให้กัญชาออกดอกก่อนเวลา เนื่องจากกัญชาเป็นพืชวันสั้น หากได้รับแสงน้อยกว่า 12 ชม./วัน จะกระตุ้นการสร้างตาดอก เมื่อต้นกัญชาออกดอกจะนำอาหารที่สร้างได้มาสร้างดอกทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก

        สำหรับการเก็บใบกัญชาในชุดแรกนี้เริ่มตั้งแต่เวลา 04.30 น. แล้วเสร็จเวลา 06.00 น.โดยประมาณ และส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลฝั้น อาจาโร  มีน้ำหนักรวม 30 กิโลกรัม จากต้นกัญชา 330 ต้น และคาดว่าจะเก็บผลผลิตได้ต่อไปในทุก 2 สัปดาห์