“ล่าสุดเดือนตุลาคมนี้เอง สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ หรือ United States Environmental Protection Agency (US EPA) ได้ประกาศว่าจากการประเมินข้อมูลและหลักฐานต่าง ๆ ที่มีอยู่จากอดีตถึงปัจจุบัน สรุปว่า พาราควอตไม่ใช่สาเหตุและไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคพาร์กินสัน”
ในที่สุดกลุ่มต่อต้านการแบน 3 สารเคมีเพื่อการเกษตร ” พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส”ขยายวงกว้างมากขึ้น อย่างเกษตรกรในภาคตะวันออกมีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนภาคตะวันออก ประกอบด้วย กลุ่มสวนไม้ผลแปลงใหญ่จันทบุรี และเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี พ.ศ. 2561 สถาบันทุเรียนไทย เกษตรกรชาวสวนจันทบุรี สมาคมชาวสวนลำไย กลุ่ม Young Smart Farmer จันทบุรี ออกมาเคลื่อนไหว และจัดเสวนา “รวมพลังเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนภาคตะวันออก” ได้บทสรุปคือเกษตรกรพบแต่ปัญหา มีแต่ความเดือดร้อนหนัก และเสียใจกับการถูกใส่ร้ายให้เป็น อาชญากรให้แผ่นดินอาบสารพิษ ทั้งที่ล่าสุดเดือนตุลาคมนี้เอง ทางหน่วยงาน US EPA ของอเมริกา ได้ออกมาแจ้งว่าจากการประเมินข้อมูล และหลักฐานต่าง ๆ ที่มีอยู่ สรุปว่า พาราควอตไม่ใช่สาเหตุ และไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคพาร์กินสัน
นายธีรภัทร อุ่นใจ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่จันทบุรี และเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี พ.ศ. 2561 เปิดเผยบทสรุปจากการเสวนาว่า เกษตรกรเสียใจกับคำกล่าวโทษให้เกษตรเป็นประหนึ่ง อาชญากรแผ่นดิน ต้นเหตุแผ่นดินอาบสารพิษ ด้วยการนำเสนอข่าวที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นผลวิจัย ผลการตรวจสารตกค้าง ส่งผลให้เกษตรกรเดือดร้อนมากในหลายด้านทั้งในการเพาะปลูก จนถึงการดำเนินชีวิตด้วยการสร้างความเกลียดชังไปยังกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งการเดินหน้าแบนโดยไม่รับฟังเสียงเกษตรกร หรือแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือจากนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ แพทย์ที่ แม้กระทั่งข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรเอง ซึ่งมีผลการศึกษาชัดเจนว่า ไม่พบสารตกค้างจากพาราควอตจนทำให้เกิดผลต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม จากการถูกบิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะด้านผลวิจัย หรือการปล่อยข่าว โดยเฉพาะการถูกตีตราว่าเกษตรกรเหมือนอาชญากร ทำแผ่นดินอาบสารพิษ และการเดินหน้าแบนโดยไม่เคยฟังเสียงเกษตรกร
ด้านนายชรัตน์ เนรัญชร เกษตรกรจันทบุรี ให้ความเห็นว่า การแบน สารกำจัดแมลง ยังพอมีสารอื่น หรือวิธีอื่นทดแทนได้ แต่สำหรับสารกำจัดวัชพืช พาราควอตและไกลโฟเซต ด้วยสภาพอากาศ ภูมิประเทศ หรือประเภทพืชผลที่ปลูก ยังจำเป็นต้องใช้ หากยกเลิก ทั้งสองสารนี้ เปรียบเสมือนการยกเลิกยาสามัญประจำบ้าน ส่งผลกระทบชัดเจนทั้งเรื่องต้นทุน แรงงาน เครื่องจักร และทรัพยากรเวลาด้วย ปัจจุบัน เกษตรกรไม่มีทุน หรือแรงที่จะทำได้เช่นนี้ทุกคน โครงสร้างต้นทุน สำคัญมากสำหรับภาคเกษตร โดยเฉพาะการเพาะปลูกผลผลิตในเชิงอุตสาหกรรม เพื่อการส่งออก ทำให้ต้องแข่งขันทั้งความปลอดภัยตามมาตรฐาน คุณภาพ และราคากับประเทศเพื่อนบ้าน ด้านความปลอดภัยตามมาตรฐาน จันทบุรี ไม่เคยประสบปัญหาดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการสารเคมี ไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย เพียงแต่ปรับตัว และนำสารใหม่มาจำหน่ายเท่านั้น รวมทั้ง สารทดแทนใหม่ กลูโฟซิเนต ที่รัฐแนะนำ ก็มีราคาสูง และเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังของสหภาพยุโรป มีพิษร้ายอันตราย ในฐานะเกษตรกรที่มีบทบาททั้งในฐานะ เกษตกรผู้ผลิต และผู้บริโภค จะมั่นใจได้อย่างไร เพราะเกษตรกรก็ใส่ใจในความปลอดภัยและความถูกต้องในการใช้เป็นอย่างมาก และเป็นผู้บริโภคที่รักครอบครัว และ รักแผ่นดินไทย เช่นกัน
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์นิพนธ์ พวงวรินทร์ ราชบัณฑิตแห่งสำนักราชบัณฑิตยสภา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคพาร์กินสันว่า ในตำราแพทย์ด้านประสาทวิทยา มีการกล่าวถึงว่า สารเคมีประเภทยาฆ่าแมลง และยาฆ่าหญ้าเป็นสารที่ทำให้เกิดโรคพาร์กินสันในสัตว์ทดลอง เพราะจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง พวกหนูพบว่าสารกลุ่มนี้ทำลายเซลล์สมองหนูได้และก่อให้เกิดอาการแบบโรคพาร์กินสันขึ้นในหนู แต่ข้อมูลในสัตว์ทดลองที่คล้ายคลึงกับมนุษย์เช่นในลิง ยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันว่าจะทำ เกิดโรคในลิงได้หรือไม่ แม้ว่าระยะหลังจะมีการศึกษาต่อเนื่อง ยังสรุปไม่ได้ว่าสารเคมีกลุ่มนี้จะทำให้เกิดโรคพาร์กินสันจริงหรือไม่ ประกอบกับสารเคมีพาราควอตในเลือดจะเข้าไปสู่สมองลำบากเพราะสารนี้ไม่ผ่านตัวกรองกั้นจากเลือดเข้าสู่สมอง (Blood Brain Barrier) และการจะเกิดการทำลายเซลล์สมองต้องมีปริมาณของสารเคมีในขนาดสูง การสรุปที่แน่ชัดในเรื่องนี้คงต้องอาศัยการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกมากในอนาคต
ล่าสุดเดือนตุลาคมนี้เอง สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ หรือ United States Environmental Protection Agency (US EPA) ได้ประกาศว่าจากการประเมินข้อมูลและหลักฐานต่าง ๆ ที่มีอยู่จากอดีตถึงปัจจุบัน สรุปว่า พาราควอตไม่ใช่สาเหตุและไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคพาร์กินสัน
ขณะที่พันเอก นายแพทย์สุรจิต สุนทรธรรม แพทย์ผู้มีความรู้ความชำนาญสาขาเวชพิษวิทยา ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลแผนกแพทยศาสตร์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ในการจำแนกสารกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ตามระดับความอันตรายเฉียบพลันฉบับล่าสุด โดยคำนึงถึงขนาดที่ทำให้เสียชีวิตนั้นได้จำแนกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ (1) Ia อันตรายยิ่งยวด (Extremely hazardous), (2) Ib อันตรายสูง (Highly hazardous), (3) II อันตรายปานกลาง (Moderately hazardous), (4) III อันตรายน้อย (Slightly hazardous) และ (5) U แทบไม่มีอันตรายเฉียบพลัน (Unlikely to present acute hazard) นั้น สารพาราควอตได้รับการจัดอยู่ในกลุ่ม II “อันตรายปานกลาง” (moderately hazardous) ซึ่งจัดว่าเป็นพิษน้อยกว่า “นิโคติน” ที่พบในยาสูบซึ่งได้รับการจัดอยู่ในกลุ่ม Ib อันตรายสูง (Highly hazardous)
สอดคล้องกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆ โดยคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย ว่า ประเด็นที่อ้างว่าพาราควอตก่อให้เกิดโรคพาร์กินสัน ระบบประสาท ผิวหนังอักเสบเนื้อเน่า หรือการถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูกนั้น “ไม่เป็นความจริง” ไม่มีข้อมูลเชื่อมโยงได้อย่างชัดเจน
ดังนั้นการอ้างว่าตรวจพบพาราควอตในพืชผัก ผลไม้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าหากฉีดพาราควอตโดนผัก ผักเหล่านั้นจะไม่มีทางไปถึงมือผู้บริโภค เพราะผักจะใบไหม้ เกษตรกรจะขายไม่ได้ จึงอยากเรียกร้องให้นักวิจัย เอารายละเอียดงานวิจัยมาแจ้งให้เกษตรกร และสาธารณชนรับรู้ด้วย เพราะเรามีความสงสัยในงานวิจัยนั้นว่าถูกต้องหรือไม่
ก็นับเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เป็นผลงานด้านงานวิจัยระดับโลก ที่สะท้อนให้หน่วยงานเกี่ยวข้องได้พิจารณา โดยเฉพาะคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่จะทำหน้าชี้ขาดว่า สารเคมีเพื่อการเกษตรทั้ง 3 ชนิด ควรจะเป็นอย่างไรสำหรับในภาคการเกษตรของไทย