กรมวิชาการเกษตร เปิดตัว ฝ้ายใบขนพันธุ์ใหม่ “ตากฟ้า 7” จุดเด่นให้ผลผลิตฝ้ายปุยสูง สมอใหญ่ เก็บเกี่ยวง่าย ที่สำคัญทนทานเพลี้ยจักจั่น ต้านทานโรคใบหงิก ทางเลือกใหม่ที่ช่วยลดการใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลง ตอบโจทย์ผลิตฝ้ายปลอดภัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้ให้ชนบทแบบครบวงจรและอย่างยั่งยืน
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ฝ้ายเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรในชนบทมายาวนาน ปัจจุบันวิถีการผลิตฝ้ายของเกษตรกรมีการเปลี่ยนแปลงจากการปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ติดต่อกัน ซึ่งทำให้การปฏิบัติ ดูแล รักษาไม่ทั่วถึง จึงมาปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่ขนาดเล็กไม่เกิน 1 ไร่ต่อครอบครัว รวมทั้งนิยมใช้พันธุ์ฝ้ายที่ทนทานต่อแมลงศัตรู เพื่อลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง ทำให้ง่ายต่อการดูแลรักษา และปลอดภัยต่อสุขภาพผู้ผลิตและผู้บริโภค
เสริมสุข สลักเพ็ชร์
ดังนั้นเพื่อเป็นการตอบรับต่อความต้องการของเกษตรกร ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ กรมวิชาการเกษตร จึงทำการคัดเลือกสายพันธุ์ฝ้ายที่มีลักษณะทนทานต่อโรค และแมลงศัตรูฝ้ายสำคัญที่รวบรวมไว้ในแหล่งเชื้อพันธุกรรมมาทำการประเมินผลผลิตในสภาพการปลูกแบบปลอดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูฝ้าย เพื่อคัดเลือกให้ได้สายพันธุ์ฝ้ายใบขนพันธุ์ใหม่ ที่ให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อเพลี้ยจักจั่น และต้านทานต่อโรคใบหงิก สำหรับเป็นทางเลือกให้เกษตรกรสามารถปลูกในพื้นที่ขนาดเล็ก ปราศจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรค และแมลง เพื่อรองรับแนวความคิดในการผลิตฝ้ายที่ปลอดภัยต่อสุขภาพผู้ผลิต ผู้บริโภค ตลอดจนอนุรักษ์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนประสบผลสำเร็จได้ฝ้ายใบขนพันธุ์ใหม่ คือฝ้ายพันธุ์”ตากฟ้า 7”
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 7 ผ่านการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 มีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตฝ้ายปุยทั้งเมล็ดสูง 196 กิโลกรัมต่อไร่ สมอมีขนาดใหญ่โดยมีน้ำหนักปุยสูงถึง 4.91 กรัมต่อสมอ ซึ่งการที่สมอมีขนาดใหญ่ทำให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวได้สะดวก และง่ายกว่าการเก็บเกี่ยวฝ้ายที่มีสมอขนาดเล็ก เปอร์เซ็นต์หีบ ความยาว และความละเอียดอ่อนของเส้นใยดี โดยมีเปอร์เซ็นต์หีบ 36.4 % มีความยาวเส้นใย 1.02 นิ้ว ที่สำคัญเป็นพันธุ์ฝ้ายที่มีความทนทานต่อเพลี้ยจักจั่นฝ้ายและต้านทานต่อโรคใบหงิก สามารถปลูกได้ในแหล่งผลิตฝ้ายของประเทศไทยทั่วไป
จากการประเมินการยอมรับพันธุ์ฝ้ายตากฟ้า 7 โดยจัดทำแบบสอบถามเกษตรกรในเขตจังหวัดนครสวรรค์ เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี เชียงใหม่ มุกดาหาร และเลย สรุปได้ว่าเกษตรกรมากกว่า 95% มีความชอบมากในด้านผลผลิตสูง สมอมีขนาดใหญ่ ทรงต้นโปร่ง ต้านทานต่อโรคใบหงิก เมล็ดมีเปอร์เซ็นต์งอกที่ดี เจริญเติบโตดี ดูแลรักษาง่าย ทนทานต่อโรคแมลงศัตรู และเก็บเกี่ยวง่าย
“ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 7 ปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรสามารถนำไปปลูกได้ในพื้นที่ขนาดเล็กปราศจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง โดยปัจจุบันศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์มีความพร้อมของเมล็ดพันธุ์คัดของฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 7 จำนวน 50 กิโลกรัม ซึ่งเมล็ดพันธุ์คัดดังกล่าวสามารถที่จะใช้ปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์หลักได้ถึง 25 ไร่ ซึ่งจะผลิตเมล็ดพันธุ์หลักได้ประมาณ 2,500 กิโลกรัม รวมทั้งยังรองรับแนวคิดการผลิตฝ้ายที่ปลอดภัยต่อสุขภาพผู้ผลิต ผู้บริโภค ตลอดจนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สิ่งทอรูปแบบใหม่ๆ เป็นการสร้างงานให้แก่ชนบทแบบพึ่งพาตนเอง เริ่มจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ปลูกไปจนถึงกลุ่มผู้แปรรูปผลผลิต ตั้งแต่การปั่นด้าย การทอผ้า การออกแบบ และการตัดเย็บ เป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนแบบครบวงจรและยั่งยืน” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว