เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ผู้แทนเกษตรกรโครงการราชบุรีประชารัฐ พืชผักและผลไม้ปลอดภัย นำไทยสู่ครัวโลกกรมวิชาการเกษตร บุกรัฐสภา อ่านแถลงการณ์ เปิดข้อเท็จจริงเรื่องพาราควอต ยืนยันเกษตรในโครงการใช้มานานแล้ว ไร้ผลตกค้าง ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค แฉข้ออ้างของกลุ่มเอ็นจีโอบางกลุ่ม ที่อ้างผลวิจัยพบพาราควอตในขี้เทาเด็ก กรณีแม่สู่ลูก ที่อ้างนักวิจัยแจ้งว่า ได้เก็บตัวอย่างจากอาสาสมัครหญิงตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าได้ตรวจสอบแล้ว ได้รับการยืนยันจากโรงพยาบาลที่อ้าง พบว่าไม่มีข้อมูลในการดำเนินการใดๆ ย้อนถามเอาผลการวิจัยมาจากไหน ส่วนที่อ้างพบสารตกค้างในพื้นที่หลายแห่ง แต่พอหน่วยงานรัฐได้ตรวจสอบซ้ำกลับไม่พบ วอน “พลเอกประยุทธ์” ให้เปิดอ่านข้อมูลที่แท้จริงก่อนที่ภาคเกษตรกรรมไทยจะล่มสลายในยุคนี้
วันที่ 17 ตุลาคม 2562 ตัวแทนเกษตรกรจากเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง และผู้แทนเกษตรกรโครงการราชบุรีประชารัฐ พืชผักและผลไม้ปลอดภัย นำไทยสู่ครัวโลกกรมวิชาการเกษตร บุกรัฐสภาอ่านแถลงการณ์ที่รัฐสภา เปิดหลักฐานผลไม้ไร้สารตกค้าง พร้อมร้องขอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ข้างเกษตรกร ก่อนนำหลักฐานผลไม้ไร้สารตกค้างมอบให้นางสาวผ่องศรี ธาราภูมิ คณะทำงานทางการเมืองของประธานรัฐสภา
นางสาวผ่องศรี กล่าวว่า ได้รับข้อมูลจากทุกฝ่ายแล้ว เข้าใจถึงปัญหาและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญที่รับผิดชอบพิจารณาแนวทางการควบคุมสารเคมีเกษตร จะต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้าน ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ไม่ได้ตัดสินใจหรือฟังธงว่าจะแบนทั้ง 3 สาร โดยการตัดสินใจขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตรายเป็นสำคัญ (รับฟังแบบเต็มได้ที่ https://youtu.be/nfRdyrFahYE และ https://youtu.be/KZxIBMRWgf0)
ด้านนางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ผู้แทนเกษตรกรในโครงการฯ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาโครงการเพาะปลูกพืชผักและผลไม้ด้วยการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย ได้พิสูจน์แล้วว่า การอบรมเพื่อให้เกษตรกรปฏิบัติอย่างถูกต้องตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี ยืนยันได้ว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ ได้แก่ สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตามที่เป็นข่าว พร้อมแสดงผลตรวจสุขภาพเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมทั้งก่อน-ระหว่าง-หลังโครงการ ย้ำการกระทำและใส่ร้ายเกษตรกร ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ต้นทุนพุ่งจากการกักตุนสารเคมี ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น 3 เท่า กระทบไกลถึงเศรษฐกิจ ภาพลักษณ์ประเทศ และการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมในระยะยาว
นอกจากนี้ การกล่าวอ้างจากเอ็นจีโอถึงผลวิจัยเรื่องการพบพาราควอตในขี้เทาเด็ก กรณีแม่สู่ลูก พบว่า ตามที่นักวิจัยแจ้งว่า ได้เก็บตัวอย่างจากอาสาสมัครหญิงตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ปรากฏได้ตรวจสอบกลับไปยังโรงพยาบาลดังกล่าว ได้รับการชี้แจงว่า ไม่มีข้อมูลการดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น ผลการวิจัยมาจากไหน (หลักฐานตามเอกสารแนบ) รวมทั้ง เอ็นจีโอกล่าวอ้างถึง การพบสารตกค้างในพื้นที่หลายแห่ง แต่ในความเป็นจริง หน่วยงานรัฐได้ตรวจสอบซ้ำกลับไม่พบการตกค้างพาราควอตแต่อย่างใด จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีเปิดอ่านข้อมูลที่แท้จริงก่อนภาคเกษตรกรรมไทยจะล่มสลายในยุคของท่าน
“เรายืนยันว่า นับตั้งแต่วันนี้ เกษตรกรจะไม่ยอมให้ใครมาใส่ร้าย ทำลายเศรษฐกิจภาคการเกษตร และดูถูกอาชีพเกษตรกรอีกต่อไป เกษตรกรมากกว่า 1.5 ล้านราย พร้อมที่จะออกมาแสดงพลังทุกเมื่อ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะดำเนินการตัดสินอย่างถูกต้อง เป็นธรรม ยึดถือข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยมีหัวใจสำคัญ เกษตรกรต้องไม่เดือดร้อนกับวิธีการแก้ปัญหา เกษตรกรตั้งข้อสังเกตุถึงความพยายามอย่างผิดปกติถึงวิธีการแบนสารสามตัวนี้ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราขอเป็นกำลังใจให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ถูกคุกคาม กดดันมาโดยตลอด ได้ใช้ความรู้ของท่านในการพิจารณาอย่างอิสระ” นางสาวอัญชุลี กล่าว
ขณะที่นายสุชัช สายกสิกร เกษตรกรจังหวัดราชบุรี กล่าวเสริมว่า เกษตรกรสับสนเป็นอย่างมาก ณ ปัจจุบัน เหมือนเป็นหนูทดลองยาให้กับภาครัฐ ยกตัวอย่าง วันนี้ รัฐบอกให้เกษตรกรออกมาอบรมเพื่อให้ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และสามารถซื้อได้อย่างถูกกฎหมาย แต่อีกวันบอกว่า ไม่สามารถซื้อได้แล้วตั้งแต่ 1 ธันวาคม เป็นต้นไป ใครซื้อใช้ โดนจับปรับผิดกฎหมาย หรือ 50 ปีที่แล้วบอกว่า พาราควอต ปลอดภัย แต่วันนี้ บอกว่า ไม่ปลอดภัย จะหาสารทดแทนใหม่มาให้ ดังนั้น เกษตรกร จึงขอรับฟังและเชื่อข้อมูลจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ นำหลักฐานมาแสดงว่า พาราควอต มีผลตามคำกล่าวอ้างจริง และสารทดแทนที่เสนอมานั้นปลอดภัยหรือ ราคาอย่างไร มีะประสิทธิภาพที่เท่ากันหรือไม่ เพราะกลุ่มที่ต้องการแบนนำเสนอข้อมูลมานั้น เป็นการกล่าวหาลอย ๆ และสิ่งที่รับไม่ได้คือกล่าวหาว่า เกษตรกรเป็นฆาตกร
“เกษตรกรเชื่อมั่นในนายกรัฐมนตรี ที่รับฟังข้อมูลทั้งสองด้าน เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว สารเคมีทั้งสามตัวนี้ คงโดนแบนไปนานแล้ว เหตุที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ตัดสินไม่แบน เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏมาโดยตลอดว่า ไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานที่ชัดเจนว่าพาราควอตส่งผลต่อสุขภาพ และไม่มีการตกค้างในสิ่งแวดล้อมตามที่เอ็นจีโอกล่าวอ้าง ส่วนการขึ้นป้ายของโรงพยาบาลต่าง ๆ นั้น บอกว่า มีคนเสียชีวิตจากยาฆ่าหญ้ากว่า 600 คนต่อปี แต่ในความเป็นจริง สถิติของกระทรวงสาธารณสุข มีคนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละมากกว่า 50,000 ราย มากกว่า ยาฆ่าหญ้าหลายเท่า เกษตรกรจึงอยากฝากกระทรวงสาธารณสุขให้แบนบุหรี่ด้วย หากห่วงใยสุขภาพของผู้บริโภคอย่างแท้จริง” นายสุชััช กล่าว