สยยท.ค้านมาตรการประกันราคายาง แฉประกาศแบน”พาราควอต” ปุ๋ย-สารมีทะลักชายแดน

  •  
  •  
  •  
  •  

เกษตรกรกลุ่มยางพารา ค้านมาตรการประกันราคายาง ชี้สูตรคำนวณต้นทุนสวนทางกับความเป็นจริง วอนขอให้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” หยุดปั่นกระแส 3 สารเคมีเกษตรเพื่อหนุนนายทุน ระบุเป็นการสร้างภาระและความยากจนให้เกษตรกร แฉพอประกาศแบน มีการลักลอบนำเข้าปุ๋ย-สารเคมีกำจัดศัตรูพืชผิดกฎหมาย และไม่ได้มาตรฐานทะลักชายแดนไทย-ลาว พม่า กัมพูชา โดยที่ภาครัฐไม่สามารถควบคุมได้

       นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากการประชุมโครงการประกันราคาเกษตรกรชาวสวนยาง ประสบปัญหาล้มเหลว เนื่องจากสูตรคำนวณต้นทุนการผลิตเกษตรกรสวนยางของปีนี้ แจ้งว่า ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 55 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งขัดแย้งกับความเป็นจริง ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 65.65 บาท ซึ่งเป็นการประเมินเมื่อ 5 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2557) ดังนั้น ต้นทุนการผลิตไม่มีทางลดลงเหลือ 55 บาทอย่างแน่นอน ด้วยการเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากนโยบาย ภาวะเงินเฟ้อ ราคาปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ดังนั้น มาตรการประกันราคายางที่ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม จึงไม่สะท้อนราคาที่แท้จริง

         ขณะเดียวกัน คลางแคลงใจกับนโยบายพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ทุกพรรคต่างประกาศสงครามกับความจน ยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ให้ประชาชนและเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่กลับเอื้อกลุ่มนายทุน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม การปั่นกระแสข่าวการแบน 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส เพื่อเปิดทางให้สารเคมีของนายทุนพรรคการเมือง กลูโฟซิเนต ที่ราคาแพงและมีอันตรายเหมือนกัน เป็นที่น่าสังเกตุอย่างยิ่ง หากภาครัฐต้องการเลิกใช้สารเคมีจริงๆ ทำไมจึงห้ามใช้สารเคมีตัวหนึ่ง และแนะนำสารเคมีอีกตัวหนึ่งให้เกษตรกรแทน แบบนี้ควรแบนสารเคมีให้หมดทุกตัว จะได้ไม่มีวาทะกรรมแผ่นดินอาบสารพิษ จากกลุ่มต่อต้านการใช้สารเคมี ที่มากดดันเกษตรกร

    

     “นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศแบน 3 สารเคมีฯ ส่งผลให้เกิดการลักลอบนำเข้าปุ๋ย-สารเคมีกำจัดศัตรูพืชผิดกฎหมาย และไม่ได้มาตรฐานจากต่างประเทศมาตามชายแดนไทย-ลาว พม่า กัมพูชา โดยภาครัฐไม่สามารถควบคุมได้ อีกทั้งเปิดทางคอร์รัปชั่นและหาผลประโยชน์จากกลุ่มผู้มีอิทธิพล” นายอุทัย กล่าว

         ประธานสภา สยยท. กล่าวอีกว่า แนวทางการจัดการที่เหมาะสมที่สุด คือ การวางแผนและจัดการเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ใช่นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ โดยไม่มีการวางแผนหรือไตร่ตรองไว้อย่างรอบคอบถึงผลกระทบในทุกมิติ รวมทั้ง ประเด็น 3 สารเคมีฯที่ชอบบอกว่า มีพิษสูง ทำให้อวัยวะภายใน ตับ ไต ล้มเหลว นั่นก็เพราะมีคนเอาไปกินใช่หรือไม่ แบบนี้เอาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ใช่หรือไม่ เพราะสารเคมีเกษตร พาราคตวอตมีไว้กำจัดหญ้า ถ้าจะมีปัญหาสุขภาพนั่นก็ต้องไปดูว่ามีการใช้อย่างไร ถูกต้องไหม อย่าเหมารวม เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่มีประสบการณ์ใช้มายาวนาน ไม่ได้มีปัญหาอย่างที่เป็นข่าว และหากแนะนำสารเคมีตัวใหม่ และเกิดมีข้อกล่าวหาด้านสุขภาพอีก รมว. รมช. เกษตรฯ และคุณหมอ จะมารับผิดชอบต่อผลเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรไหม