“ประยุทธ์”ปิ้ง”ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” ลั่นน่าส่งเสริม

  •  
  •  
  •  
  •  

“ประยุทธ์” ควงคณะล่องใต้ ชื่มชมโครงการส่งเสริมอนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้าน จ.ยะลา หวังยกระดับสู่เมืองทุเรียน แนะให้ส่งเสริมการวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยีพัฒนาผลิตภัณฑ์การเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัยยิ่งขึ้น ชี้ที่น่าส่งเสริมมากที่สุด ทุเรียนสายพันธุ์ประจำท้องถิ่น “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา”

        เมื่อเวลา 13.50 น.วันที่ 7 สิงหาคม 2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการทุเรียนคุณภาพและการบริหารจัดการทุเรียนคุณภาพของเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร พร้อมพบปะกลุ่มเกษตรกร ที่บริเวณตลาดกลางยางพารายะลา ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา  โดยมีนายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังวัดยะลากล่าวรายงานความก้าวหน้าโครงการ

       โอกาสนี้ พลเอกประยุทธ์ มอบใบรับรองแหล่งผลิตพืช (Good Agricultural Practice : GAP) แก่ผู้แทนเกษตรกร จำนวน 10 ราย และมอบรางวัลการประกวดทุเรียนพื้นบ้านและอาหารจากทุเรียนพื้นบ้านจังหวัดยะลา ประจำปี 2562 ให้แก่ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากนั้นได้กล่าวระหว่างพบปะกลุ่มเกษตรกรและประชาชนว่า ดีใจที่ได้เดินทางมาจังหวัดยะลา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีผังเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย และสวยงามที่สุดติดอันดับโลก อีกทั้งยะลายังได้ชื่อว่าเป็นเมืองทุเรียน ซึ่งมีทุเรียนสายพันธุ์ประจำท้องถิ่น ที่น่าส่งเสริมคือ “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา”  รวมทั้งรู้สึกดีใจที่ได้มาเจอกับพี่น้องชาวเกษตรกรชาวสวนทุเรียนทุกคน

        พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้เพื่อมาตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดยะลา พร้อมกับได้มาติดตามการดำเนินงานและโครงการต่าง ๆ ที่ภาครัฐได้ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด และเพื่อยกระดับศักยภาพความโดดเด่นของภาคใต้ชายแดนให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

        นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้น้อมนำหลักการสืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนมาตรการและนโยบายต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ในการยกระดับคุณภาพชีวิต พึ่งพาตนเองได้ และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างยั่งยืน

        ดังนั้น การร่วมมือกันขจัดปัญหา อุปสรรค เงื่อนไข ต้องมาคุยกัน ต้องไว้ใจกัน และลงมือปฏิบัติไปพร้อมกัน รัฐบาลได้ต่อยอดการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร การพัฒนาเมืองชายแดน ควบคู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อให้ภาคใต้ชายแดนเป็นแหล่งผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สำคัญของประเทศ

        “รื่องการพัฒนาเกษตรฐานราก ไปสู่การส่งเสริมการรวมกลุ่มอาชีพให้กับเกษตรกรทั้งในรูปแบบกลุ่มอาชีพ วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ เพื่อต่อยอดอาชีพของเกษตรกร จากการเพาะปลูกไปสู่การแปรรูปผลผลิต ให้กลายเป็นสินค้าระดับชุมชน และมีการเชื่อมโยงตลาด ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรสามารถจําหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งจะมีการขยายผลการดำเนินงานไปในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร การที่จังหวัดยะลาดำเนินโครงการส่งเสริมอนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านนี้ จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับทุเรียนพื้นบ้านของยะลาที่มีหลากหลายสายพันธุ์ เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ช่วยอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ผลไม้ท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการส่งเสริมการวิจัย พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีในการพัฒนาสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยยิ่งขึ้น” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

        พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณมูลนิธิปิดทองหลังพระ ที่ได้มาส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ในรูปแบบประชารัฐ โดยการพัฒนาไม้ผลเศรษฐกิจของพื้นที่ โดยเฉพาะการทำทุเรียนคุณภาพ ตั้งแต่การผลิตจนถึงการจำหน่าย เพื่อให้เกษตกรได้ดูแลแปลงทุเรียนแบบประณีต การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการ และเชื่อมโยงกับตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

         สำหรับ “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” เป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ รสชาติดี เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ด้วยพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 67,000 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยวประมาณ 48,000 ไร่ และมีแนวโน้มการปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น ให้ผลผลิตรวมกว่า 41,000 ตันต่อปี สร้างรายได้ 1,600 ล้านบาทต่อปี  ซึ่งจังหวัดยะลาเป็นแหล่งปลูกทุเรียนแหล่งใหญ่ที่สุดในภาคใต้ตอนล่าง จังหวัดยะลาจึงได้กำหนด 1 ในวาระจังหวัดยะลา คือวาระยะลาเมืองทุเรียน (Yala Durian City) โดยตั้งเป้าหมายให้จังหวัดยะลาเป็นเมืองทุเรียนแห่งภาคใต้ตอนล่าง เน้นการผลิตทุเรียนคุณภาพ ตามระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นหลัก ด้วยการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูป และที่สำคัญคือให้เป็นศูนย์กลางตลาดค้าส่งและธุรกิจแปรรูปทุเรียนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

         สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลาได้ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนวาระจังหวัดยะลา ให้เป็น ยะลาเมืองทุเรียน (Yala Durian City) โดยบูรณาการเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่มีอยู่ทุกอำเภอ ซึ่งมีฐานการเรียนรู้ตามประเด็นต่าง ๆ เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจังหวัดยะลาได้รวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่มากที่สุดในประเทศ จำนวน 16 แปลง เกษตรกรสมาชิก 951 ราย รวมพื้นที่ 6,495.50 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 900 กก./ไร่ รวมผลผลิตจากแปลงใหญ่รวม 5,845.95 ตัน สร้างรายได้ 320 ล้านบาทต่อปี

         จากการส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ทุเรียนที่ผ่านมาส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง 10.1% โดยการใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ผลผลิตเพิ่มขึ้น 8.4% โดยการจัดการสวนที่ดีและใช้ปุ๋ยถูกต้องเหมาะสม มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการผลิต กำหนดมาตรฐานการผลิต และเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ รับรองสินค้าที่สามารถทำได้หรือเป็นที่ต้องการของตลาด ผ่านกระบวนการกลุ่มที่เข้มแข็งโดยการเชื่อมโยงการตลาด และการสร้างมูลค่าเพิ่ม เกษตรกรสามารถรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกส่งตลาดออนไลน์ facebook และมีการแปรรูป เช่น ทุเรียนทอด ทุเรียนเชื่อม ทุเรียนกวน เพื่อเพิ่มมูลค่าการตลาด สามารถส่งจำหน่ายทั่วประเทศทางไปรษณีย์ โดยกลุ่มสามารถกำหนดเป้าหมายและแผนปฏิบัติการ รวมทั้งการจัดทำแผนธุรกิจของกลุ่มที่ชัดเจน

        ทั้งนี้ ภาครัฐมีการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกันผลิตในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ ผลิตไปในทิศทางเดียวกัน เป็นผลดีต่อเกษตรกรในระดับหนึ่งแล้ว และเมื่อยกระดับมาเป็นสมาพันธ์ เป็นการเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการทุเรียน ซึ่งจะเข้ามากำกับดูแลให้การผลิตทุเรียนแปลงใหญ่มีมาตรฐาน มีระบบบริหารจัดการที่เหมาะสม มีความเสถียรในด้านของราคา ก่อให้เกิดความยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวสวนทุเรียนอย่างยั่งยืนและมั่นคงต่อไป

        ในการลงพื้นที่ในครั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น นิทรรศการการยางแห่งประเทศไทย สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่มีการแปรรูปสินค้าจากทุเรียน และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชาในจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมได้กล่าวว่า า ให้คำนึงถึงความต้องการของตลาด อย่าให้ปลูกมากเกินไปจะเกินความต้องการของตลาด ให้รักษามาตราฐาน และนำเทคโนโลยีสื่อออนไลน์มาช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด

         ที่สำคัญให้รักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมประจำถิ่นที่ดีงามต่อไป และนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน ที่มีความตั้งใจและทุ่มเทในการพัฒนาจังหวัดยะลาร่วมกัน ขอให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงและยั่งยืน ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ขจัดปัญหาหรืออะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาด้วยความเข้าใจ

ที่มา : ข่าวทำเนียบรัฐบาล