แกนนำสถาบันเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ “ปาล์มน้ำมัน-ข้าวโพดหวาน-ไม้ผล จันทบุรี” จับมือประสานเสียง แนะนโยบายรัฐชุดใหม่ ยึดเกษตรกรเป็นหลัก ลดเอื้อกลุ่มทุน พยุงราคาสินค้าเกษตร ลดต้นทุนการผลิต ชี้รัฐบาลชุดเก่าลดนำเข้า 3 สารเคมีเกษตร “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” โดยไม่มองความเป็นจริง ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นมาทันที ทั้งความจริงเกษตรกยังมีความจำเป็น
นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ราคาผลปาล์ม น้ำมันปัจจุบัน โรงงานรับซื้อ อยู่ที่กิโลกรัมละ 2.20 บาท แต่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 3.38 บาท เห็นได้ชัดว่า เกษตรกรอยู่ในภาวะขาดทุน เนื่องประเทศไทยเกษตรกรไม่สามารถตั้งราคาผลผลิตเองได้ แต่พ่อค้าคนกลางเป็นผู้กำหนด อยากให้กระทรวงพาณิชย์ สร้างความเป็นธรรมให้กับสินค้าราคาเกษตร ไม่ใช่เปลี่ยนกลไกตลาดเพื่อกลุ่มทุน รวมทั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องการช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต การหาเทคโนโลยี วิธีการต่างๆ มาช่วยเกษตรกร
ตัวอย่างที่ผ่านมาความไม่แน่นอนจากนโยบายการใช้สารเคมีเกษตร เช่น พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส หารลดปริมาณนำเข้าโดยไม่มองความเป็นจริง ทำให้ราคาสารเคมี 3 ตัวแพงขึ้นทันที ทั้งๆ ที่กระทรวงฯ ควรดูแลเกษตรกร ต้องมองเห็นความจำเป็นสำหรับเกษตรกร ไม่เชื่อข้อมูลที่บิดเบือน ทั้งๆ ที่ไม่มีผลต่อสุขภาพในเกษตรกรกลุ่มปาล์ม เพราะใช้มานานกว่า 40 ปีแล้ว ฉะนั้นควรเน้นการให้ความรู้ เพื่อให้สามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง เพราะยังไม่มีสารทดแทน รวมทั้ง สารเคมี กลูโฟซิเนตที่แนะนำให้ใช้แทนนั้น จะแน่ใจได้อย่างไรว่าไม่มีผล ลกระทบในระยะยา และราคาแพงกว่า 5 เท่า นับเป็นการทำร้ายเกษตรกรและผู้บริโภคยิ่งกว่าเดิม
ด้านนายอนุวัฒน์ อิ่มสมบูรณ์ เลขานุการสหกรณ์การเกษตรจังหวัดจันทบุรี และเป็นผู้ปลูกทุเรียนส่งออก กล่าวเสริมว่า นโยบายเกษตรของรัฐบาลชุดใหม่ อยากให้เน้นเรื่องมาตรการส่งออก ภาษี และแรงงาน เนื่องจากปัจจุบัน รัฐบาลสามารถดำเนินการเรื่องราคาสินค้าเกษตรในส่วนของผู้ผลิตทุเรียนได้ดีแล้ว แต่ความไม่ชัดเจนเรื่องนโยบายการใช้สารเคมีเกษตรกร กลับส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการผลิต ที่ขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว
เนื่องจากกระแสข่าวการใช้สารเคมีเกษตร ทำให้เกิดการกักตุน ราคาสูงขึ้น สารเคมีผิดกฎหมายถูกนำเข้ามามากขึ้น แนวทางแก้ไขที่เหมาะสม ควรเป็นการให้คำแนะนำเรื่องการใช้ มากกว่าการยกเลิกหรือลดการนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย จึงอยากให้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำความเข้าใจกับกระบวนการผลิตของเกษตรในแต่ละพืชปลูกให้ดี ก่อนออกมาตรการดังเช่นที่ผ่านมา ซึ่งเรียกว่า “เกาไม่ถูกที่คัน
ขณะที่นายทนงศักดิ์ ไทยจงรักษ์ กลุ่มผู้รวบรวมข้าวโพดหวานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวสรุปว่า สถานการณ์ปัญหาของกลุ่ม คือ การกีดกันทางภาษี และการค้าในกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากปัญหาศัตรูพืชและภัยแล้งธรรมชาติ ดังนั้น การจัดการเรื่องมาตรการส่งออกสินค้าเกษตร ควบคู่ไปกับการวางแผนระบบชลประทานเพื่อภาคการเกษตร จะช่วยเกษตรกรได้มากขึ้น เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถปลูกในพื้นที่ระบบชลประทานเข้าถึงได้ เพราะที่ดินมีราคาสูง จึงต้องเพาะปลูกในพื้นที่ห่างไกล รวมทั้ง ศัตรูพืชที่มีอยู่ตลอดช่วงการเพาะปลูก ทำให้จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเกษตรกรข้าวโพดหวานส่วนใหญ่เข้าสู่ระบบมาตรฐานเกษตร GAP แล้ว ผลผลิตจึงอยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย ผู้ผลิตและผู้บริโภคไม่ต้องกังวล
ดังนั้น นโยบายที่ออกมาจำกัดการใช้สารกำจัดวัชพืช จึงเป็นต้นเหตุและมีปัญหาต่อต้นทุนการผลิต เกษตรกรเห็นด้วยกับภาครัฐที่ส่งเสริมให้ความรู้ด้านการใช้อย่างถูกต้อง แต่ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกร ต้องให้เวลาจัดการแบบค่อยค่อยไป ทำให้เกษตรกรยอมรับที่จะปรับตัว จะเป็นทางออกที่ยั่งยืนที่สุด