ดลมนัส กาเจ
ในบรรดาการทำนาเพื่อลดโลกร้อน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ดำเนิน “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ “ไทย ไรซ์ นามา ” เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนและลดโลกร้อนนั้น จากการที่ลงพื้นที่ ได้ดำเนินกิจกรรม ณ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหัวไม้ซุง ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อเร็วเร็วๆนี้ ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง “เทคโนโลยีการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบแสงเลเซอร์” (Laser Land Levelling) เพื่อปรับพื้นที่นาให้เรียบในระดับเดียวกัน
การปรับพื้นที่นาให้เรียบเสมอกันเป็นพื้นฐานของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ทำให้การใช้ ทรัพยากรการผลิตที่สำคัญ คือ น้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อน้ำครอบคลุมได้เท่ากันทั่วทั้งแปลงนา ผลคือ ลด ปริมาณการใช้น้ำได้ตลอดฤดูการเพาะปลูก ลดต้นทุน การใช้สารปราบวัชพืช น้ำมัน ค่าแรงงาน รวมทั้งต้นข้าว มีความสม่ำเสมอ
สิ่งที่ตามมาคือส่งผลให้ได้ผลผลิตเท่ากันทั่วทั้งแปลง การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบแสงเลเซอร์ (Laser Land Leveling) เป็นการปรับพื้นนาในสภาพดิน แห้งที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ในระดับความคลาดเคลื่อนไม่เกิน +/- 2 เซนติเมตร ทั่วทั้งแปลง แม้จะมีต้นทุน ค่าปรับพื้นที่ที่สูงกว่าการปรับโดยใช้ระดับน้ำเป็นเกณฑ์ หรือ การปรับพื้นนาในสภาพมีน้ำท่วมขัง แต่ก็จะสามารถคืนทุนค่าปรับพื้นที่ภายใน 3 ฤดูปลูก เนื่องจากว่า ปรับครั้งเดียวสามารถอยู่ได้หลายฤดูกาลนั่นเอง
นายปริญญา พันธัง ที่ปรึกษาองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ซึ่งเป็นวิทยากรประจำฐาน เทคโนโลยีการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบแสงเลเซอร์ บอกว่า แม้เครื่องเลเซอร์ที่จะใช้สำหรับปรับพื้นที่นาให้เสมอนั้นอาจมีราคาสูงถึง 3 แสนบาท แต่มีผู้ประกอบการที่รับจ้างปรับพื้นที่นาด้วย เทคโนโลยีการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบแสงเลเซอร์ เกษตรกรลงทุนจ้างเพียงครั้งเดียวไร่ละ 3,000 บาทเกษตรกรยืนยันว่าเพียง 3 ปีก็คุ้ม เพราะการปรับพื้นที่นาให้เรียบสามารถอยู่ได้นานกว่า 10 ปี (ฟังเสียงในคลิป)