“ทำนาแบบเปลียกสลับแห้ง”ประหยัดน้ำกว่าครึ่ง ป้องกันเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ด้วย

  •  
  •  
  •  
  •  

ดลมนัส  กาเจ

      ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมมือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ดำเนิน “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ “ไทย ไรซ์ นามา ” เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนและลดโลกร้อนนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 “ไทย ไรซ์ นามา ” ได้ดำเนินกิจกรรม ณ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านหัวไม้ซุง ตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้เห็นกิจกรรมหนึ่งส่วนใจคือ “การจัดการน้ำในนาแบบเปียกสลับแห้ง” (Alternate Wetting and Drying: AWD) หรือ “การนำแบบเปียกสลับแห้ง”

       นายถาวร  คำแหง เกษตรกรผู้ร่วมโครงการทำนาแปลงใหญ่ ต.เดิมบางนางบวช อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นวิทยากรใน โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประฐาน “ทำนาแบบเปียกสลับแห้ง “ บอกว่า การทำนาไม่จำเป็นที่จะต้องใช้น้ำมาก ในช่วงแรก อาจปล่อยน้ำให้สูงจากพื้นไม่เกิน 10 ซม.ก็พอแล้ว เพื่อควบคุมวัชพืช ในช่วง 10 วันจากนั้นปล่อยให้แห้ง นอกจากจะประหยัดน้ำแล้ว ที่สำคัญเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลก็ไม่ระบาดด้วย  จนกว่า 50 วันไปแล้วจึงใช้น้ำสูงราว 5 ซม.(รายละเอียดในคลิป)

      สำหรับ“การจัดการน้ำในนาแบบเปียกสลับแห้ง” เป็นผลการวิจัยของกรมการข้าวว่าการจัดการน้ำในนาข้าวที่เหมาะสมจะลดการปล่อยก๊าชเรือน กระจกและสามารถประหยัดน้ำที่ใช้ในการทำนา โดยมีรายละเอียดในเรื่องความสัมพันธ์ของการจัดการน้ำ ตลอดช่วงการเจริญเติบโตของข้าวมีความแตกต่างกัน เทคโนโลยีการปลูกข้าวด้วยการควบคุมระดับน้ำโดยให้น้ำเป็นรอบเวรในช่วงการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ จนกระทั่งข้าวเริ่มกำเนิดช่อดอก หรือเรียกว่า “การจัดการน้ำในนาแบบเปียกสลับแห้ง” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว และลดปริมาณน้ำที่ใช้กับการปลูกข้าวในเขตชลประทาน ได้ร้อยละ 20 – 50 และสามารถลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้กว่าร้อยละ 3

       ส่วนการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งที่ว่านี้ จะประหยัดน้ำถึง 55% มีขั้นตอนคือ   ขั้นตอนของการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งในนาข้าวมีดังนี้1) การเตรียมดิน 2) ปรับให้พื้นที่สม่ำเสมอ 3) ปลูกข้าว (หว่าน ปักดำ หรือหยอด) 4) ถ้าปลูกด้วยวิธีการหว่าน หลังหว่านข้าวให้ระบายน้ำให้แห้งเพื่อให้เมล็ดข้าวงอกสม่ำเสมอ พ่นสารคุม-ฆ่าวัชพืชหลังหว่านข้าว 10 วัน และเอาน้ำเข้าแปลงหลังพ่นสารภายใน 2 วัน ประมาณ ครึ่งต้นข้าว รักษาระดับน้ำไว้จนถึงช่วงการใส่ปุ๋ยรองพื้น

        5) เมื่อข้าวอายุ 20-25 วันให้ใส่ปุ๋ยรองพื้น 6) หลังจากหว่านปุ๋ยรองพื้น ปล่อยน้ำในนาให้แห้งไปโดยธรรมชาติจนน้ำอยู่ที่ระดับ 15 เซนติเมตรใต้ผิวดิน สูบน้ำเข้าแปลงจนระดับน้ำสูง 5 เซนติเมตรเหนือผิวดิน จากนั้นปล่อยน้ำให้แห้งไปตามธรรมชาติ ทำสลับกันไปจนถึงช่วงการใส่ปุ๋ยแต่งหน้า ที่ระยะกำเนิดช่อดอก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าระยะข้าวแต่งตัว 7) ใส่ปุ๋ยแต่งหน้า และรักษาระดับน้ำในแปลงให้อยู่ที่ 5 เซนติเมตรเหนือผิวดิน จนถึงก่อนเก็บเกี่ยว 10 วัน จึงปล่อยให้แปลงแห้งเพื่อให้ข้าวสุกแก่สม่ำเสมอและสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว

            เพื่อความสะดวกในการดูระดับน้ำ ให้ติดตั้งท่อดูน้ำ 1-2 จุด ในแปลงนา (ท่อดูระดับน้ำเป็นท่อพีวีซีขนาดความยาว 25 ซม.เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว เจาะรูด้วยสว่านเส้นผ่านศูนย์กลางหุนครึ่งถึงสองหุน 4 – 5 แถวรอบ ๆ ท่อ แต่ละรูห่างกัน 5 ซม. ฝังลงไป 20 ซม. ให้ปากท่อโผล่ขึ้นพ้นผิวดิน 5 ซม.)เพื่อให้เกษตรกรผลิตข้าวในสภาวะน้ำชลประทานมีจำกัดให้เกิดประโยชน์และประสิทธิสูงสุด กรมการข้าว มีเป้าหมายส่งเสริมแก่เกษตรกรทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องไม่เฉพาะในช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วงเท่านั้น เนื่องจากน้ำเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปต้องรณรงค์ให้ใช้อย่างประหยัดรู้ค่าเพื่อความมั่นในอนาคต ชาวนาที่สนใจหรือมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์วิจัยข้าวหรือศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวใกล้บ้านท่านก็ได้