สยามคูโบต้าจับมือ3องค์กรพันธมิตร ถกครั้งใหญ่แห่งปี “Agri Forum 2019เกษตรปลอดการเผา”

  •  
  •  
  •  
  •  

บริษัทสยามคูโบต้าฯ จับมือ 3 องค์กรพันธมิตร “กรมการข้าว –สำนักงานคณะกรรมการอ้อยฯ-ธ.ก.ส.”ลงนาม MOU ว่าด้วยการร่วมพัฒนาการเกษตรไทยควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ผ่านโครงการ “เกษตรปลอดการเผา Zero Burn” พร้อมระดมมันสมองระดับกูรูด้านการเกษตร มาให้ความรู้และแนวทางส่งเสริมเกษตรกรไทยทำเกษตรปลอดการเผา บนเวทีงานสัมมนาครั้งใหญ่แห่งปี “Agri Forum 2019” ในวันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2562 ณ ฮอลล์ 5 อิมแพค เมืองทองธานี

            นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า โครงการเกษตรปลอดการเผา Zero Burn เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ซึ่งตั้งเป้าหมายให้พื้นที่ภาคการเกษตรของไทยกว่า 140 ล้านไร่ ปลอดการเผา 100% ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยสยามคูโบต้าได้ลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน พร้อมด้วยกระทรวงอุตสาหกรรม โดย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในการร่วมกันผลักดันในเชิงนโยบายและการจัดกิจกรรมในพื้นที่จริงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยการนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ และเครื่องจักรกลมาช่วยด้านการเกษตรของประเทศไทยให้แข็งแกร่ง ภายใต้แนวคิด KUBOTA (Agri) Solutions หรือ KAS ซึ่งเป็นระบบจัดการเกษตรกรรมแบบครบวงจร ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต ลดต้นทุน ตลอดจนสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

            นอกจากนี้สยามคูโบต้ายังได้ต่อยอดความร่วมมือกับกรมการข้าว สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จัดงานสัมมนา Agri Forum 2019 เวทีสัมมนาใหญ่ระดับประเทศ เพื่อระดมความรู้และแนวทางพัฒนาส่งเสริมเกษตรกรไทยในโครงการ “เกษตรปลอดการเผา Zero Burn” ภายใต้แนวคิด The World of Unburnt Farm โดยมีวิทยากรจากทุกภาคส่วนมาร่วมถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กระตุ้นให้เกษตรกรไทยร่วมใจทำเกษตรปลอดการเผา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง และร่วมขับเคลื่อนภาคการเกษตรกรให้ยั่งยืน

            สำหรับงานสัมมนา Agri Forum 2019 จะมีขึ้นในวันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2562 ณ ฮอลล์ 5 อิมแพค เมืองทองธานี ตั้งแต่เวลา 8.30 – 15.00 น. โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงได้แก่ 1. ปฐกถาพิเศษจากผู้แทนภาครัฐด้านนโยบายและโครงการสนับสนุนเกษตรปลอดการเผาเพื่อเกษตรกร (Lecture of Pollution Problem and Policy)  2. Showcase Best Practice สัมภาษณ์เกษตรกรต้นแบบในการปลูกข้าวและอ้อยแบบปลอดการเผา และ 3.Panel Discussion เสวนาภายใต้หัวข้อ “Agri Circular Economy” พร้อมชมนิทรรศการเกี่ยวกับการสร้างรายได้จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว เช่น ฟางข้าว ตอซังข้าว ใบอ้อย ใบข้าวโพด จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อรณรงค์ให้เกษตรกร ผู้เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม และประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมงาน ตระหนักเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการทำเกษตรที่ไม่เผาทำลายวัสดุเหลือใช้หลังการเก็บเกี่ยว โดยตั้งเป้าหมายผู้เข้าร่วมงาน จำนวน 1,000 ท่าน สำหรับผู้สนใจสามารถลงทะเบียนผ่าน Facebook: Siam Kubota Club หรือโทรสำรองที่นั่งได้ที่ 08-9206-1840      

            ด้านนายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ปกติทางกรมการข้าวได้ร่วมมือกับสยามคูโบต้ามาหลายโครงการแล้ว ที่ได้ทำงานร่วมกัน สำหรับการร่วมมือในโครงการเกษตรปลอดการเผา Zero Burnนั้น เนื่องจากว่าประเทศไทยมีพื้นที่การปลูกข้าวปีละประมาณ 70 ล้านไร่ โดยในแต่ละปีจะมีฟางข้าวเหลือทิ้งในนาเฉลี่ย 27 ล้านตัน ตอซังข้าวตกค้างอยู่ในนาประมาณ 18 ล้านตัน ทำให้เกิดปัญหาการเผาจากภาคการเกษตร จนกลายเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมลพิษจากฝุ่นละออง

 กรมการข้าวจึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ในการให้ความรู้ความเข้าใจการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้จากนาหลังการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง การไม่เผาตอซังและฟางข้าว ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ ลดต้นทุนการบำรุงรักษาพืชและดินให้กับเกษตรกร โดยเริ่มดำเนินการก่อนในพื้นที่ 6 จังหวัดที่มีการเผาทางการเกษตรสูง   

            ส่วนนางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า ในส่วนของการทำไร่อ้อยนั้น ได้สร้างมลภาวะจากการเผาอ้อยก่อนที่จะตัดอ้อย เนื่องจากเกษตรกรต้องการความสะดวก เพราะการเผาอ้อยก่อนตัดนั้นสามารถตัดอ้อยได้เร็วกว่าถึง 3 เท่าแต่สร้างมงภาวะทางอากาส ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจึงมีมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยทั้งระบบสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการสนับสนุนให้ใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร ดำเนินโครงการพัฒนาและสาธิตการเพิ่มผลผลิตในเกษตรแปลงใหญ่ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยเกษตรกรในการบริหารจัดการไร่ และจัดตั้งศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย ตลอดจนการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

            เป้าหมายลดการเผาอ้อยให้หมดไปในปี 2565 ผ่านมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางกฎหมาย การสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งจะขยายโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562-2564 นำเสนอมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตรถตัดอ้อยไทย ตลอดจนขอความร่วมมือด้านการบริหารจัดการเพื่อเป็นต้นแบบการเก็บเกี่ยวและการขนส่งอ้อยให้โรงงาน โดยได้ดำเนินมาตรการเหล่านี้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม 

            ขณะที่ นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) กล่าวว่า เป้าประสงค์ตามวิสัยทัศน์ของ ธ.ก.ส. มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดย ธ.ก.ส. ได้กำหนดแนวทางการทำงานร่วมกับเครือข่ายในการถ่ายทอดองค์ความรู้การเกษตรแบบปลอดการเผาให้กับเกษตรกร ผ่านชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงของ ธ.ก.ส. จำนวน 7,927 ชุมชน ควบคู่กับการขับเคลื่อนโครงการอาหารปลอดภัยจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค  “ธ.ก.ส. Go Green” และสนับสนุนสินเชื่อเพื่อจัดหาเทคโนโลยี เครื่องมือ อุปกรณ์ วิธีการ และนวัตกรรมต่างๆ

          ทั้งนี้เพื่อช่วยจัดการตอซัง และเศษพืชในแปลงเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนและช่วยเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร อาทิ สินเชื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Green Credit) สินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นการให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ สำหรับการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การทำการเกษตรด้วยด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีวงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท โดยส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ร่วมกับหน่วยงานภาคีภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษจากฝุ่นละออง ตลอดจนส่งเสริมให้ภาคการเกษตรไทยมีความเข้มแข็ง และปรับเปลี่ยนทัศนคติการทำเกษตรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น