“กฤษฎา”ยังฟิตสั่งก่อนลาให้กรมชล-ฝนหลวงรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง

  •  
  •  
  •  
  •  


“กฤษฎา”ฟิตจัดส่งท้ายตำแหน่ง สั่งเตรียมแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง-ขาดแคลนน้ำจากภาวะฝนทิ้งช่วง พร้อมจี้หน่วยงานในพื้นที่เร่งเดินสายชี้แจงเกษตรกรคุมพื้นที่ปลูกข้าวรอบ2 ไม่ให้เกิน 11.21 ล้านไร่

       นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าบางช่วงของฤดูฝนปีนี้โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะมีการกระจายตัวของฝนไม่สม่ำเสมอและมีปริมาณฝนน้อย ซึ่งจะส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะนอกเขตชลประทาน ซึ่งอาจทำให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งและขาดแคลนน้ำจากปัญหาฝนทิ้งช่วง

       ดังนี้ตนได้กำชับและมอบหมายหน่วยงานในพื้นที่ เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดด้วย.พร้อมทั้งได้เตรียมแผนการบริหารจัดการสถานการณ์ภัยแล้งปี 2561/62 ขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและพื้นที่ทำการเกษตร โดยมอบหมายกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเริ่มปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่ 1 มี.ค. 2562 โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 11 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการเชียงใหม่ ตาก ลพบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี สุรินทร์ สระแก้ว สุราษฎร์ธานี สงขลา มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง 111 วัน (1 มี.ค.- 25 มิ.ย. 2562)

        ผลจากการปฏิบัติการมีฝนตกคิดเป็นร้อยละ 90.09 ขึ้นปฏิบัติการ 3,024 เที่ยวบิน จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 57 จังหวัด และ สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี เปิดหน่วยฯ ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 62 ขึ้นปฏิบัติการ 6 วัน 9 เที่ยวบิน มีฝนตกในพื้นที่จังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี จะดำเนินการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่องจนกว่าปริมาณฝนจะเพียงพอต่อการทำการเกษตร

           นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้กรมชลประทานติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 199 เครื่อง เพื่อสูบน้ำเติมให้โรงสูบน้ำเพื่อผลิตน้ำประปา เพื่อเติมน้ำเข้าคลองซอย ขุดลอกคลอง สร้างทำนบดินชั่วคราว ออกหน่วยบริการน้ำเพื่อการอุปโภค สร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อเก็บกักและชะลอน้ำในการรักษาระบบนิเวศ ในส่วนการเตรียมการด้านประมง ได้จับสัตว์น้ำขึ้นจำหน่ายและประชาสัมพันธ์ให้งดเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันความเสียหายด้านประมง ส่วนด้านพืชได้ให้คำแนะนำการดูแลรักษาพืช เช่น นำเศษวัสดุทางการเกษตรคลุมโคน ตัดแต่งกิ่งใบตามหลักวิชาการ เพื่อลดการคายน้ำ และการใช้ระบบน้ำหยดในพื้นที่แปลงหากมีความจำเป็น ปรับเวลาการให้น้ำ

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า  เพื่อให้การบริการจัดการน้ำในฤดูแล้งปีนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กระทรวงเกษตรฯยังได้ปรับโครงสร้างการปฏิบัติงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การประเมินความเสี่ยงด้านการเกษตร การกระจายเครื่องมือ เครื่องจักร ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ตลอดจนสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้ปลูกข้าวรอบ 2 (11.21 ล้านไร่) ให้ใกล้เคียงเป้าหมายที่สามารถจัดสรรน้ำได้ 11.65 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 104 ของแผน ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2561/62 (1 พ.ย. 2561 – 30 เม.ย. 2562) สามารถจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม จำนวน 23,585 ล้าน ลบ.ม.(103%) และมีปริมาณน้ำสำรองสำหรับต้นฤดูฝน (20 พ.ค.62) จำนวน 18,626 ล้าน ลบ.ม.

       “ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงฯเร่งติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงในบริเวณพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหา พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเติมน้ำให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 (ขนาดใหญ่ จำนวน 19 แห่ง ขนาดกลางจำนวน 198 แห่ง) เพื่อให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการของพื้นที่เกษตรในเขตชลประทาน” นายกฤษฎา กล่าว