โชว์ 7 พืชน้ำน้อยเหมาะในนช่วงหน้าแล้ง รายได้ดีกว่าทำนาถึง 5 เท่าตัว

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…เกษตรทำกิน

         “พื้นที่อีกแปลงหนึ่ง มีที่ 4 ไร่ ปลูกพืชน้ำน้อยในกลุ่มผักใบมีทั้ง คะน้า ผักบุ้ง ผักกาดหอม ผักชี กวางตุ้งสลับกันไป เน้นตลาดห้างสรรพสินค้า 80% และอีก 20% ขายในตลาดสด พบว่าพืชน้ำน้อยสามารถสร้างรายได้ตกเดือนละเกือน 30,000 บาท”

         ท่ามกลางที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรปีแล้วปีเล่า ทาง“อีสท์ เวสท์ ซีด” ผู้นำตลาดเมล็ดพันธุ์ผักในประเทศไทย สบช่องเสนอแนวทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกรด้วยส่งเสริม ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย 7 ชนิด ใช้น้ำน้อยกว่าทำนา 2 เท่า แต่สร้างรายได้ดีกว่าถึง 5 เท่าตัว

         วิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้จัดการทั่วไปบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์คุณภาพตรา “ศรแดง” กล่าวว่า จากประกาศของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เรื่องการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากอ่างเก็บน้ำโดยรวมทั้งประเทศจำนวน 412 แห่ง มีจำนวน 89 แห่ง ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุ และน้ำที่ไหลลงเขื่อนในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในระดับต่ำมาก รวมทั้งเขื่อนขนาดกลางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 13 เขื่อน ที่ไม่มีน้ำเหลือแล้ว

        สอดคล้องกับประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่คาดว่าจากปรากฏการณ์เอลนีโญ อุณหภูมิในปีนี้จะสูงกว่าปีที่ผ่านมา 1-2 องศาเซลเซียส ส่งผลให้สภาพอากาศร้อนแล้งยาวนานกว่าทุกปี สถานการณ์น้ำทั่วประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง จะมีน้ำสำหรับทำการเกษตรน้อยลงมาก ดังนั้นเกษตรกรต้องการปรับตัว ด้วยการเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยมาปลูก แทนการทำนา แต่มีรายได้มากกว่า ด้วยเหตุนี้ทางอีสท์ เวสท์ ซีด ได้มีการโครงการ “ ศรแดงพืชน้ำน้อย ทางเลือกใหม่ช่วงภัยแล้ง “ ที่ต่อเนื่องจากปี พ.ศ. 2559

           

        สำหรับพืชน้ำน้อยที่แนะนำประกอบด้วย 7 ชนิด คือข้าวโพด อาทิ ข้าวโพดหวานลูกผสม พันธุ์จัมโบ้สวีท ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 70 วัน  สร้างรายได้ 16,000 บาทต่อไร่,แฟง เป็นแฟงไส้ตันลูกผสม พันธุ์ปิ่นแก้ว ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 60-65 วัน สร้างรายได้ 40,000 บาทต่อไร่ ,แตงโม มีแตงโมลูกผสม พันธุ์จอมขวัญ ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 55-60 วัน สร้างรายได้ 35,000 บาทต่อไร่ ,ฟักทอง เช่น ฟักทองลูกผสม พันธุ์ข้าวตอก 573 ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 75 วัน สร้างรายได้ 24,000 บาทต่อไร่,แตงกวา แตงร้าน โดยเฉพาะแตงกวาลูกผสม พันธุ์ธันเดอร์กรีน ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 30-32 วัน สร้างรายได้ 39,000 บาทต่อไร่,     ถั่วฝักยาว มีถั่วฝักยาว พันธุ์ลำน้ำพอง ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 55-60 วัน สร้างรายได้  60,000 ต่อไร่, และกลุ่มผักใบ อาทิ ผักบุ้ง พันธุ์ยอดไผ่9 ระยะเวลาเริ่มเก็บเกี่ยว 20-21 วัน สร้างรายได้ 43,200 บาทต่อไร่

       “ เราเห็นว่าพืชน้ำน้อยจะมีประโยชน์กับเกษตรกรอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำที่ใช้น้อยกว่าการทำนาถึง 2 เท่า เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไว ภายใน 2 เดือนก็สามารถสร้างรายได้แล้ว เทียบกับการทำนาที่ต้องใช้ระยะเวลา 3-4 เดือน และเกษตรกรไม่ต้องเสี่ยงกับการทำนาที่เราก็รู้อยู่แล้วว่าสถานการณ์น้ำในปีนี้น้อยขนาดไหน ” เขา กล่าว

   

         คำปั่น โยแก้ว เกษตรกรตัวอย่างเกษตรกรที่ปลูกพืชผักน้ำน้อย ที่บ้านโนนเขวา ต.ดอนหัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น บอกว่า เดิมทีกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เคยทำนาเป็นอาชีพหลัก แต่ปัญหาใหญ่ที่พบเป็นประจำทุกปีคือเรื่องน้ำที่มีไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร ทำให้เสี่ยงต่อการขาดทุน ชาวบ้านเลยหันมาปลูกพืชน้ำน้อยแทน โดยรวมกลุ่มกันในนาม “กลุ่มปลูกผักปลอดภัยบ้านโนนเขวา” กลุ่มนี้เน้นปลูกผักกลุ่มผักใบ  เพราะใช้น้ำน้อยกว่า เก็บเกี่ยวได้ไวกว่า ปลูกได้ทั้งปี มีตลาดรองรับด้วย

       “ในพื้นที่บริเวณของกลุ่มบ้านโนนเขวา จะไม่มีชาวบ้านทำนาอีกเลย เพราะว่าทำนาต้องใช้น้ำมาก ถ้าทำนาบ้านเดียว อีกสิบบ้านก็ไม่มีน้ำทำการเกษตรกัน ชาวบ้านเลยหันมาปลูกพืชน้ำน้อยเป็นทางเลือก” คำปั่น กล่าว

       อย่างไรก็ตามในปี 2561 เขาได้ลองทำนาอีกบนเนื้อที่ 5 ไร่ ลงทุนไปประมาณ 12,000 บาท แต่เนื่องจากนาข้าวต้องใช้น้ำเยอะ และการดูแลอย่างทั่วถึง ประกอบกับภาวะอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ผลผลิตที่ออกมาไม่ดี เมล็ดข้าวลีบ ไม่ได้น้ำหนัก ก็ขาดทุน

         ส่วนพื้นที่อีกแปลงหนึ่ง มีที่ 4 ไร่ ปลูกพืชน้ำน้อยในกลุ่มผักใบมีทั้ง คะน้า ผักบุ้ง ผักกาดหอม ผักชี กวางตุ้งสลับกันไป เน้นตลาดห้างสรรพสินค้า 80% และอีก 20% ขายในตลาดสด พบว่าพืชน้ำน้อยสามารถสร้างรายได้ตกเดือนละเกือน 30,000 บาท  และสามารถปลูกได้ทั้งปี จึงสร้างรายได้ตลอดทั้งปีกัน

         การปลูกน้ำน้อย ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรไทยในยุคที่ประเทศไทยมีน้ำเพื่อการเกษตรในแต่ละปีแทบจะไม่เพียงพอ ที่สำคัญพืชน้ำยังสามารถสร้างรายได้ดีอีกด้วย