โฟกัส“เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” หยุดบุกรุกป่า ลดปัญหาหมอกควัน

  •  
  •  
  •  
  •  

       “การนำระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่ปลูกข้าวโพดมาใช้ เพื่อให้สามารถยืนยันได้ว่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ของซีพีเอฟปลูกจากพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่ได้มาจากพื้นที่บุกรุกป่า และสามารถป้องกันการนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศเข้ามาสวมสิทธิ์ได้ 100%”

           จากคำถามของสังคมที่พุ่งตรงถึงนโยบายการส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถูกมองว่ากลายเป็นตัวที่ทำให้เกิดการบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูกและกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันในภาคเหนือของไทย ทางบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในผู้ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

           จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาซีพีเอฟได้ผลักดันและส่งเสริมให้เกิดระบบการตรวจสอบแหล่งที่มาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขึ้น บนพื้นฐานของนโยบายการจัดหาวัตถุดิบด้วยความรับผิดชอบและยั่งยืน ซึ่งดำเนินร่วมกับพัฒนาขีดความสามารถผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ถูกกฎหมายมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

          โครงการ “โครงการเกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ริเริ่มตั้งแต่ปี 2557 โดย บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ผู้จัดหาวัตถุดิบให้กับโรงงานอาหารสัตว์ของซีพีเอฟ และร่วมมือกับหน่วยงานราชการ อย่างสำนักปฏิรูปที่ดิน (สปก.) กรมส่งเสริมการเกษตร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการให้องค์ความรู้ ผ่านการอบรมและการทำแปลงสาธิตเพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ปลูกข้าวโพดได้อย่างถูกต้อง ผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ลดต้นทุนต่อหน่วยลง

         เป้าหมายหลักให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และที่สำคัญมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ ซีพีเอฟสามารถส่งเสริมเกษตรกรได้กว่า 8,700 รายใน 25 จังหวัดทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 225,700 ไร่ เพื่อตอบโจทย์ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกร จากการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และช่วยกับการแก้ปัญหาการแผ้วถางผืนป่าและแก้ปัญหาหมอกควัน

          ขณะที่ บริษัทฯ ยังเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบของการส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวโพดตั้งแต่เริ่มเพาะปลูกจนถึงการนำผลผลิตส่งเข้าโรงงานอาหารสัตว์ โดยนำความทันสมัยและเครื่องจักร มาช่วยให้ปลูกข้าวโพดด้วยความเหมาะสม อาทิ ใช้ข้อมูลจากดาวเทียม สำรวจพื้นที่เหมาะสมทั้งเรื่องดินและปริมาณน้ำฝน ประกอบกับผู้นำชุมชน และหน่วยงานราชการในพื้นที่ให้ความร่วมมือเต็มที่ที่จะช่วยเกษตรกรในพื้นที่ตำบลบัลลังก์พ้นจากขีดความยากจน จากข้อจำกัดของตำบลบัลลังก์ที่พื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกปี

       

        องค์ความรู้ที่ถ่ายทอดถึงเกษตรกร เพื่อให้มีการบำรุงพื้นที่ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เกษตรกรเก็บตัวอย่างดินในแปลงตัวเองมาตรวจวิเคราะห์ดูธาตุอาหาร การปรับเปลี่ไถเตรียมแปลง การปลูก ปรับเปลี่ยนการใส่ปุ๋ยและระยะเวลาการใส่ปุ๋ย เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สิ้นเปลือง ตลอดจนการไถเตรียมแปลง และระยะการปลูกที่เหมาะสมในการหากินอาหารของรากข้าวโพด ช่วยให้ต้นข้าวโพดทนแล้งได้นานกว่าเดิม พร้อมทั้งยังส่งเสริมการบริหารจัดการแบบเกษตรแปลงใหญ่ช่วยลดต้นทุนในการใช้เครื่องจักรและการขนส่งได้ผลผลิตเพิ่มมาเป็นไร่ละ 1,096 กก. ต้นทุนต่ำลงไปเหลือ กก.ละ 4.56 บาท สำหรับฤดูเพาะปลูก ปี 2562 มีเกษตรกรต้องการเข้าร่วม 1,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ไร่

         โครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ไม่เพียงแต่จะช่วยพัฒนาผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สู่ความยั่งยืน แล้ว โครงการฯ ยังสนับสนุนะรองรับการดำเนินนโยบายการจัดหาที่ยั่งยืนของซีพีเอฟ ที่มีการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่ปลูกข้าวโพดมาใช้ เพื่อให้สามารถยืนยันได้ว่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ของซีพีเอฟปลูกจากพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่ได้มาจากพื้นที่บุกรุกป่า และสามารถป้องกันการนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศเข้ามาสวมสิทธิ์ได้ 100%

      นอกจากนี้ ความสำเร็จของ ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในต.บัลลังก์ และในจังหวัดต่างๆ ที่ร่วมโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้ผู้ปลูกข้าวโพดบนพื้นที่ผิดกฎหมาย หรือจากการบุกรุกป่าค่อยๆ หายออกไปจากห่วงโซ่การผลิตอาหารในที่สุด