กูรูวงการแพทย์ด้านโรคระบบหายใจ ชี้ชัด “พาราควอต”ไม่ใช่ปีศาจ แต่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรรมไทย

  •  
  •  
  •  
  •  

 

                                                                ศ.(เกียรติคุณ) ดร. นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ

       ยังเป็นประเด็นร้อนสำหรับวงการอุตสาหกรรมเกษตร หลังจากมีข่าวเรื่องของสารเคมีเพื่อการเกษตร “พาราควอต” ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในกลุ่มกสิกรผู้ใช้พาราควอต ทำให้แพทย์และนักวิชาการ ซึ่งมีทั้งผู้สนับสนุนและค้านการใช้พาราควอตในเกษตรกรรม ได้รวมกลุ่มกันแลกเปลี่ยนข้อมูลและรวบรวมข้อมูลเท็จจริงและจัดเสวนา “สนทนาพาราควอต” ขึ้น ได้ข้อสรุปว่า “พาราควอต” เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรรมไทย ไม่ควรเลิกใช้ หากใช้ถูกต้อง ก็ไม่เกิดโทษเช่นเดียวกับสารพิษที่แพทย์นำไปบำบัดโรคและรักษาผู้ป่วย

        ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตแห่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และผู้เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ อดีตหัวหน้าภาควิชาโรคระบบหายใจ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช ประธานที่ประชุม “สนทนาพาราควอต” ได้สรุปข้อมูลการเสวนาในครั้งนี้ว่า สารกำจัดวัชพืชพาราควอตที่เกษตรกรไทยได้นำมาใช้เป็นประโยชน์นานไม่น้อยกว่า 50 ปีแล้ว แม้จะเป็นสารพิษ แต่ถ้านำไปใช้ตรงจุดประสงค์และปฏิบัติถูกต้องตามข้อแนะนำ ผลร้ายต่อผู้ปฏิบัติและต่อสิ่งแวดล้อมก็ไม่ต่างไปจากสารพิษที่แพทย์นำไปใช้บำบัดโรคและรักษาผู้ป่วย หวังว่าเมื่อทุกคนได้เข้าใจในโทษและประโยชน์ และนำไปใช้อย่างถูกต้องแล้ว พาราควอตก็ยังเป็นปะโยชน์ต่อเกษตรกรไทยต่อไปจนกว่าจะมีสารกำจัดวัชพืชที่ดีกว่ามาใช้

       “ที่ผ่านมาเกิดความเข้าใจผิดหลายประการเกี่ยวกับพาราควอต อันตรายที่เกิดขึ้นจากพาราควอตเกิดจากการใช้ผิดความประสงค์เช่นฆ่าตัวตาย หรือ ปฏิบัติหละหลวมไม่ถูกต้อง แนะนำว่าผู้ใช้สารพิษพาราควอตต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เก็บสารเข้มข้นไว้ในที่ปลอดภัย นอกจากยังมีข้อมูลจากนักวิชาการพบว่า โรคที่ระบาดในปลานั้นพาราควอตไม่น่าเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้ปลาตาย น่าจะเกิดจากการติดเชื้อแบคที่เรีย Aeromonas hydrophila ในน้ำ และมีสาเหตุชักจูงจากภาวะเครียด เนื่องจากอุณหภูมิน้ำลดลงมากในช่วงหน้าหนาว ปลากินอาหารน้อยลง ภูมิคุ้มกันลดลง และอาจมีไวรัสบางสายพันธุ์เข้ามาร่วมก่อโรคด้วย สำหรับพาราควอตไม่น่าเป็นสาเหตุโรคปลาตามที่บางหน่วยงานตั้งสมมุติฐานไว้” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมชัย กล่าว

       ชณะเดียวกัน แม้จะมีผลงานวิจัยทางพิษวิทยาทั้งในห้องปฏิบัติการและตัวอย่างศึกษาจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่จังหวัดน่าน ที่พบว่า immune suppression ในกบที่อยู่ในพื้นที่ที่มีสารฆ่าวัชพืชมากนั้น  แต่ก็ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นสารฆ่าวัชพืชชนิดใด และจากการประชุมก็ได้ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการว่าต้องได้มาตรฐาน สามารถทวนสอบเพื่อผลที่ถูกต้อง และมีนักวิชาการบางท่านเสนอให้มีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องที่เป็นกังวล

     จากประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ราชบัณฑิตแห่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และผู้เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ อดีตหัวหน้าภาควิชาโรคระบบหายใจ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช มองว่า การใช้สารพาราควอตยังคงมีความจำเป็นต่อเกษตรกรอยู่มาก โดยเฉพาะการทำเกษตรแปลงใหญ่ ที่การจ้างคนมาตัดหญ้าแทบเป็นไปไม่ได้เลย  ดังนั้น การใช้สารกำจัดวัชพืชจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยเกษตรกรได้

       อย่างไรก็ตาม ควรมีการใช้อย่างถูกต้องและควบคุมอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งจะต้องให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการใช้ให้ถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญอาจจะต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับสารพาราควอตเพิ่มเติม เพื่อให้เกษตรกรและคนในสังคมมั่นใจว่า สารดังกล่าว ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังที่หลายฝ่ายกล่าวอ้างเหมือนที่ผ่านมา