มกอช.ดันเกษตรแปลงใหญ่แปดริ้วสู่มาตรฐาน GAP พืชอาหาร ผ่าน Q อาสา

  •  
  •  
  •  
  •  

 มกอช. เตรียมความพร้อมเกษตรกร ในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่เข้าสู่มาตรฐาน GAP พืชอาหารโดยใช้เครือข่าย Q อาสา ล่าสุดถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา หวังยกระดับขีดความสามารถของ Q อาสา ให้เป็นผู้ตรวจประเมินเบื้องต้น

         นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้ดำเนินการพัฒนา Q อาสา ด้านมาตรฐาน GAP พืชอาหาร ขึ้นตั้งแต่ปี 2559 โดยคัดเลือกผู้นำกลุ่มเกษตรกร ประธานศูนย์เรียนรู้ฯ (ศพก.) Young Smart Farmer และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครนายก สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และพัทลุง มาอบรมให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องมาตรฐาน GAP พืชอาหาร เพื่ห้เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย มีทักษะในการถ่ายถอดความรู้ และการตรวจประเมินแปลงเบื้องต้น เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ มกอช. ในพื้นที่ และเป็นที่ปรึกษาเกษตรกรให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP ได้

         นางสาวจูอะดี กล่าวอีกว่า มกอช. มีเป้าหมายในการดำเนินงานที่แปลงเกษตรกรที่ยื่นขอการรับรองมาตรฐาน GAP พืชอาหาร ของสำนักงานเกษตรจังหวัดทั้ง 9 จังหวัด จังหวัดละไม่น้อยกว่า 50-100 แปลง รวม 9 จังหวัด จำนวน 600 แปลง ล่าสุดได้ดำเนินเนินงานในพื้นที่ฉะเชิงเทรา ซึ่งมกอช. ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด ในการลงพื้นที่ จัดทีม Q อาสา และทำแผนการตรวจประเมินเบื้องต้น แปลงเกษตรที่ยื่นขอการรับรอง GAP ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสนามชัยเขต เป็นแปลง ลำไย 15 แปลง อำเภอคลองเขื่อน เป็นแปลงมะพร้าว 20 แปลง และอำเภอท่าตะเกียบ แปลงไผ่ตง 15 แปลง รวมในพื้นที่ฉะเชิงเทรา 50 แปลง โดยให้คำปรึกษาแก่เกษตรกร ในการตรวจประเมินแปลงเบื้องต้น (Pre audit) และตรวจติดตามเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องให้กับเกษตรกร เพื่อให้ได้การรับรองตามเกณฑ์ จากนั้น มกอช. สรุปผลการดำเนินงานให้แก่สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อให้ สำนักงานเกษตรจังหวัด ส่งรายชื่อเกษตรกรที่ผ่านการตรวจประเมินเบื้องต้นให้กับหน่วยงานรับรองสังกัดกรมวิชาการเกษตร มาตรวจประเมินให้การรับรองต่อไป เลขาธิการกล่าว