ก.เกษตรฯร่วมลงนาม MOU หนุนปลูกข้าวโพดหลังนาปี 61/62

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ ร่วมลงนาม MOU โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา หนุนเกษตรกรมีรายได้ และอาชีพที่มั่นคง พร้อมเชื่อมโยงแหล่งรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับภาคเอกชน ลดปัญหาผลผลิตล้นตลาด

          นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ณ กรมชลประทาน สามเสน ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบาย “การตลาดนำการผลิต” การบริหารจัดการสินค้าเกษตรเพื่อสร้างสมดุลทางการตลาด การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร การเชื่อมโยงการผลิตการตลาดภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน จึงได้จัดทำบันทึกความร่วมมือโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ประจำปี 2561/62 ขึ้นระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เป็นผู้ร่วมลงนาม

         วัตถุประสงค์ในการลงนามในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชทดแทนข้าวนาปรัง เพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวโพดเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ลดการบุกรุกป่าและต้นน้ำลำธาร มีการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยให้การสนับสนุนความรู้ทางด้านวิชาการ เทคโนโลยี ปัจจัยการผลิตทุกฝ่าย ตลอดทั้งส่งเสริมด้านการตลาด

          สำหรับแนวทางการดำเนินการความร่วมมือดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะให้ความร่วมมือสนับสนุนโครงการ พร้อมกับการประชาสัมพันธ์โครงการ ให้ความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนประสานหน่วยงานที่ร่วมโครงการเพื่อส่งเสริมให้โครงการประสบความสำเร็จ ขณะที่สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย จะให้ความร่วมมือในการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ด้วยราคาพิเศษ หรือรายการส่งเสริมการขายในรูปแบบอื่นในร้านที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง

         ส่วนสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย จะให้ความร่วมมือในการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในโครงการที่เกรดคุณภาพเบอร์ 2 ความชื้นร้อยละ 14.50 ในราคาไม่ต่ำกว่า 8.29 บาท/กิโลกรัม ณ โรงงานกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยกำหนดมาตรฐานในการรับซื้อเดียวกัน ซึ่งมีตารางหักความชื้นของกระทรวงพาณิชย์เป็นเกณฑ์ ทั้งนี้ การรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะรับซื้อที่มีคุณภาพตามเกณฑ์เท่านั้น และจะร่วมกับรัฐในการพิจารณาแนวทางดำเนินการสำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กรมปศุสัตว์กำหนด

          “โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา จะช่วยปรับสมดุลของปริมาณการผลิต การตลาดข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเชื่อมโยงแหล่งรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับภาคเอกชนตามแนวทางประชารัฐ เพื่อลดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ราคาผลผลิตตกต่ำ และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาเป็นต้นแบบการปรับแผนการผลิตให้ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรมีรายได้ มีอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืนจากกิจกรรมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงหลังฤดูทำนา เพิ่มปริมาณผลิตผลข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งรับซื้อผลิตผลข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีเสถียรภาพในการผลิตสินค้า ลดการพึ่งพาจากภายนอกประเทศ” นายลักษณ์ กล่าว.

          ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 ให้การขยายพื้นที่ดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เพื่อให้เกษตรกรที่มีความสนใจ พร้อมทั้งพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เข้าร่วมโครงการฯ ได้อย่างทั่วถึง จากพื้นที่เป้าหมาย 2 ล้านไร่ ใน 33 จังหวัด เพิ่มเติมจำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย มุกดาหาร ยโสธร และอำนาจเจริญ ซึ่งสมาคมประกันวินาศภัย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีความพร้อมและยินดีที่จะสนับสนุนในการเข้าร่วมโครงการฯ รวมเป็น 37 จังหวัด

          ส่วนการขยายพื้นที่ดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดดังกล่าวนั้น ส่งผลให้ลดพื้นที่การปลูกข้าว ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพียงพอต่อความต้องการของตลาด สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรจากการปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าว และสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้เรียนรู้การปลูกพืชอื่นในนาเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่นในระยะยาว โดยค่าใช้จ่ายจะดำเนินการภายใต้วงเงินของโครงการฯ ที่ได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี (25 กันยายน 2561 และ 24 ตุลาคม 2561) ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับสมัครเกษตรกรผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 95,620 ราย รวมเป็นพื้นที่ 807,155.50 ไร่ คิดเป็น 74.80 % จากเกษตรกรผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2561)