เรียนแม่โจ้…ถ้าขยัน “ปลูกผักแลกค่าเทอม”ได้

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดลมนัส กาเจ

           ในระหว่างที่เดืนทางไปทำข่าว และไปชมงาน “เกษตรแม่โจ้ 85 ปี : ภูมิปัญญาแห่งการเกษตร” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-16 ธันวาคม 2561 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้จังหวัดเชียงใหม่นั้น นอกจากที่จะมีนิทรรศการ และการจัดสวนต่างๆเพื่อให้คนเข้าไปชมแล้ว ยังมีโครงการดีๆที่อยู่กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ทุกฤดูกาลนั้น มีหนึ่งน่าสนใจคือคือ “โครงการปลูกผักแลกค่าเทอม” ที่สำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้นั่นเอง

           สำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เกิดขึ้นมาจากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ครั้งที่ 8/2549 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2549 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในหลักการ ให้จัดตั้งสำนักฟาร์มมหาวิทยาลัย โดยให้รวบรวมโครงการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยที่มีลักษณะใกล้เคียงกันไว้ในหน่วยงานนี้  อาทิ โครงการพัฒนาบ้านโปง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ, โครงการอุทยานเกษตรและฟาร์มมหาวิทยาลัย อำเภอพร้าว, ศูนย์พัฒนาการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศ, ฝ่ายเกษตรที่สูงและฝ่ายขยายพันธุ์พืชและสัตว์ ของสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร เป็นต้น

         ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงหารือร่วมกับหน่วยงานดังกล่าวเพื่อร่วมเป็นสำนักฟาร์ม มหาวิทยาลัย แล้วแจ้งให้สภามหาวิทยาลัยทราบ ทั้งนี้สำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่แม่โจ้ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และหารายได้ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยการผลิตบัณฑิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพนักศึกษาต้องมีการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติเพื่อให้เข้าใจเรื่องระบบการทำฟาร์มเพื่อออกไป เป็นผู้ประกอบการ

        เนื่องเพราะที่นี่จะเริ่มต้นตั้งแต่ การเตรียมดิน การเตรียมปุ๋ย การเตรียมปัจจัยการผลิตต่าง ๆ การดูแลรักษาในระบบเกษตรประณีต การใช้จุลินทรีย์และสารสกัดสมุนไพรเพื่อป้องกันและควบคุมศัตรูพืช ตลอดจนถึงการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ หรือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ การจัดการด้านตลาดเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบครบวงจร ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านเกษตรในภาคเหนือของประเทศ

        ว่าที่ ร.ต.สมบูรณ์  ระดม ผู้อำนวยการสำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เล่าว่า ปัจจุบันสำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้มีพื้นที่ทั้งหมด 907 ไร่ มีแปลงปลูกไม้ผล ไม้ดอก และแปลงผัก ซึ่งในแปลงผักนั้น นอกจากจะให้นักศึกษาลงมือภาคปฏิบัติในการปลูกผักแล้ว ยังเปิดโอกาสสำหรับนักศึกษาที่ขยัน มีความสนใจในการที่การปลูกผัก หรืออาจช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเทอม ให้ใช้พื้นที่ปลูกผักได้ตาม”โครงการปลูกผักแลกค่าเทอม”

       ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากนึกศึกษาจำนวนหนึ่งที่ปลูกผักกว่า 20 ชนิดโดยเน้นเฉพาะนักศึกษาที่สนใจจริงๆเท่านั้น ซึ่งขณะนี้กำลังหาแนวทางที่จะเปิดตลาดรองรับสินค้าพืชผักของนักศึกษาเพิ่มเติมจากตลาดที่มีอยู่แล้วภายในมหาวิทยาลัย (รายละเอียดในคลิป)