โดย…มนตรี บุญจรัส
“ในแต่ละปีคนเสียชีวิตจากพิษของสุราและบุหรี่จำนวนมาก แต่ไม่เข้าใจว่าสินค้าในหมวดนี้จึงยังคงถูกกฎหมาย แต่กัญชาและกระท่อมซึ่งเป็นพืชที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองเรามาช้านานจึงผิดกฎหมาย”
ณ เวลานี้ นอกจากกระแสข่าวการเลือกตั้งแล้วคงไม่มีข่าวไหนฮอตเท่าข่าว “กัญชา” ต้องยอมรับว่าเป็นอะไรที่ “เนื้อหอม” มากๆ จากความสนใจของหลายภาคส่วน จึงอดไม่ได้ที่จะยกมาเขียน “เล่าสู่กันฟัง” ขณะที่อีกด้านในมุมมองของผู้เขียนเอง “กัญชา” จัดเป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้า สามารถขึ้นได้ง่ายในเขตร้อน ลำต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต ลักษณะใบจะแยกออกเป็นแฉกประมาณ 5-8 แฉก คล้ายใบมันสำปะหลัง ที่ขอบทุกใบจะมีรอยหยักอยู่เป็นระยะ ๆ ออกดอกเป็นช่อเล็ก ๆ ตามง่ามของกิ่งและก้านใบ
กัญชา มีสารที่ออกฤทธิ์หลายอย่างต่อระบบประสาทส่วนกลาง คือกระตุ้นประสาท กดและหลอนประสาท สารออกฤทธิ์ที่อยู่ในกัญชามีหลายชนิด แต่สารที่สำคัญที่สุดที่มีฤทธิ์ต่อสมองและทำให้ร่างกาย อารมณ์ และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป คือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol) หรือ THC ที่มีอยู่มากในส่วนของยอดช่อดอกกัญชา และ“กัญชา” ยังคงถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ในไทย ซึ่งผู้เสพต้องระวางโทษปรับหรือจำคุก ส่วนรัฐบาลเพิ่งเริ่มหาทางแก้กฎหมายเปิดช่องให้ศึกษาวิจัยพืชเสพติดได้อย่างถูกต้อง แต่ผู้ป่วยไทยบางส่วนลักลอบใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคร้ายมาหลายปีแล้ว
จากกระแสข่าวต่างๆ ในสื่อทีวี หนังสือพิมพ์และอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับการพบสารเคมีตกค้างในกัญชาของกลางที่ตรวจยึดได้ แต่กลับพบว่ามีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชคือ คลอร์ไพริฟอส ไซเปอร์เมทริน และสารอื่นๆ เกินปริมาณที่กำหนด จึงยังไม่สามารถนำกัญชาเหล่านี้มาพัฒนาทำสารสกัดหยดใต้ลิ้นของผู้ป่วยได้
นั่นแสดงให้เห็นว่าขนาด “กัญชา” ซึ่งในขณะนี้ยังเป็นพืชที่ต้องปลูกและผลิตแบบหลบๆ ซ่อนๆ ยังมีสารพิษตกค้าง ลองนึกย้อนไปถึงกระบวนการผลิตพืชผักผลไม้ที่ทำกันทั่วไป …จะเหลืออะไร …นับว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่งถึงวิถีการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทย ที่ยังคงปล่อยปละละเลยให้มีการนำเข้าสารเคมีภาคการเกษตรมากมายเกือบแสนล้านบาท (ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)
สารเคมีที่เกษตรกรนำมาใช้อาบชโลมพื้นที่เพาะปลูกตามไร่ นา โดยเฉพาะป่าต้นน้ำที่ส่งผลทำให้สิ่งแวดล้อมใกล้เคียงปนเปื้อนสารพิษเหล่านี้ โดยเฉพาะแหล่งน้ำตามห้วย หนอง คลอง บึงและเขื่อนต่างๆ หลังจากฝนตกชะล้างเอาสารเหล่านี้ไหลลงมา ทำให้แหล่งน้ำอุปโภคบริโภคปนเปื้อนสารพิษ ขนาดนำมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นน้ำประปาก็ยังพบสารอันตรายตกค้าง ทั้งประชาชนคนทั่วไป ลูกเล็ก เด็กแดง พลอยได้รับอันตรายทำให้เสี่ยงต่อโรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อม และมะเร็ง ฯลฯ
มองในมุมของเรื่องสารเสพติด ในแต่ละปีคนเสียชีวิตจากพิษของสุราและบุหรี่จำนวนมาก แต่ไม่เข้าใจว่าสินค้าในหมวดนี้จึงยังคงถูกกฎหมาย แต่กัญชาและกระท่อมซึ่งเป็นพืชที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองเรามาช้านานจึงผิดกฎหมาย โดยที่จริงแล้วกัญชามีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆ มากมายทั้งโรคมะเร็ง โรคซึมเศร้า โรคเบื่ออาหาร ฯลฯ
ที่สำคัญช่วยให้เกษตรกรชาวไร่ชาวนามีแรงกำลังวังชาในการขุดดิน ทำไร่ ไถนา ซึ่งเหมาะสมกับวิถีของเกษตรกรไทยอย่างมาก ลองจินตนาการดูถ้าหากประเทศเรามี!! กัญชา ที่ภาครัฐออกกฎระเบียบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการใช้งาน จำกัดการปลูกแบบปลอดสารพิษได้ ก็เห็นจะเป็นประโยชน์กับประชาชนคนไทยได้ไม่น้อยเลยที่เดียว
หมายเหตุ : บทความนี้ เป็นความคิดและข้อมูลส่วนของ มนตรี บุญจรัส กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร. 02 986 1680 – 2