นักวิชาการ มก.แนะการเกษตรต้องเดินสายกลาง ชี้”อินทรีย์”เพียงหนึ่งทางเลือกเท่านั้น

  •  
  •  
  •  
  •  

นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สะท้อนความจริงในการใช้ปุ๋ยผ่านเวทีเสวนาวิชาการ“ดิน ปุ๋ยกับการเกษตรยั่งยืน ความเข้าใจที่ถูกต้อง” ระบุการเกษตรต้องเดินสายกลาง การใช้ปุ๋ยผ่านการตรวจสภาพดินจะดีที่สุด เพื่อให้ตรงกับพืชต้องการ ชี้เกษตรอินทรีย์เพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด

         เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานเปิดการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “ดินปุ๋ยกับการเกษตรยั่งยืน ความเข้าใจที่ถูกต้อง” ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารให้ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับการเกษตรยั่งยืน พืชกินอาหารได้อย่างไร ดิน ปุ๋ยและการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง พร้อมกับเปิดตัวและสาธิต App “ปุ๋ยสั่งตัด” เวอร์ชั่นใหม่ ตลอดจนสร้างความตระหนักต่อการเผยแพร่ข่าวสารทางการเกษตรอย่างถูกต้องแก่เกษตรกรและประชาชน

        โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนาได้แก่ รศ.ดร. พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ รศ.ดร.ยงยุทธ โอสถสภา อุปนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย ผศ.อรรถศิษฐ์ วงศ์มณีโรจน์ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน นายเปรม ณ สงขลา บรรณาธิการบริหารนิตยสารเคหการเกษตร ผศ.ดร.เสาวนุช ถาวรพฤกษ์ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร ดำเนินรายการโดย ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์

         รศ.ดร.พีรเดช  กล่าวว่า การเกษตรมีหลายรูปแบบ สำหรับ พ.ร.บ. เกษตรยั่งยืนของประเทศไทย น่าจะเป็นทิศทางการเกษตรของประเทศที่ดี เพื่อผลิตอาหารปลอดภัย และสามารถผลิตได้อย่างยั่งยืน เพียงแต่การนำ พ.ร.บ. ไปใช้ในทางปฏิบัตินั้น อาจจะเป็นเรื่องต้องพิจารณาหลายๆ ปัจจัยให้เหมาะสม ทั้งความมั่นคงทางการเกษตร สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมดั้งเดิม นอกจากนี้การเกษตรยั่งยืนนั้น สามารถทำได้หลายวิธี เช่น เกษตรผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ เกษตรหมุนเวียน เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น การเกษตรยั่งยืน มีความหมายง่ายๆ คือสามารถผลิตพืชได้ในระยะยาว โดยได้ผลผลิตเท่าเดิม ซึ่งจะได้จากการเติมธาตุอาหารให้กับพืชอย่างเหมาะสม เพราะปุ๋ยเคมีจะเป็นการให้ธาตุอาหารกับพืช ในขณะที่การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ช่วยให้ดินโปร่ง รากชอนไชง่าย เปรียบเสมือนการทำบ้านให้โล่ง โปร่งสบายมากกว่า สรุปความได้ว่าการเกษตรนั้น ควรเลือกเดินทางสายกลาง และการเกษตรอินทรีย์ไม่ใช่ทางออกเดียวที่จะทำให้เกิดเกษตรยั่งยืน แต่เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกร

         ด้าน รศ.ดร.ยงยุทธ  กล่าวว่า พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างอาหารได้ พืชกินอาหารในสภาพประจุ (ไอออน) หมายความว่า การใส่ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์จะต้องผ่านการละลาย หรือถูกย่อยสลาย จนเป็นประจุก่อน พืชจึงจะดูดเข้าสู่เซลพืชได้ อาหารที่จำเป็นกับพืช ได้แก่ ไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ ฯลฯ จะมีวิธีการดูดเข้าสู่พืชได้หลากหลายทาง และพืชจะนำอาหารเหล่านี้ไปสร้างเป็นสารอินทรีย์ต่างๆ ได้เอง ตามที่พืชต้องการทั้งโครงสร้างของพืช และเอนไซม์ต่างๆ ในการเจริญเติบโต ดังนั้น หากเรากังวลเรื่องสารไนเตรทในพืชผัก ก็อธิบายได้ว่า ใบของพืชจะเปลี่ยนไนเตรทให้เป็นไนไตรท์และแอมโมเนียมได้อย่างรวดเร็ว ในการรับประทานผักนั้น ควรจะรับประทานทั้งผักใบและผักที่ให้ผลควบคู่กันไป เช่น กะหล่ำปลีกับมะเขือเทศ โดยปริมาณไนเตรทที่เหมาะสมคือ ไนเตรท 1.5 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน สำหรับวิธีการให้ปุ๋ยแก่พืชนั้น มีคำแนะนำดังนี้ คือ 1.เลือกใช้ชนิดปุ๋ยที่ถูกต้อง 2. มีอัตราการให้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง 3. แบ่งใส่ปุ๋ยในจังหวะที่เหมาะสม และ 4.ใส่ปุ๋ยแก่พืชในบริเวณที่ถูกต้อง

        ส่วน ผศ.อรรถศิษฐ์  กล่าวว่า คุณภาพดินที่ใช้ในการเพาะปลูกของประเทศไทย ส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำและเมื่ออยู่ในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น หากเกษตรกรละเลยในการบำรุงดินจะทำให้คุณภาพดินเสื่อมลง ทางด้านกายภาพ เคมี และชีวภาพ สำหรับการใส่ปุ๋ยเป็นการชดเชยธาตุอาหารที่พืชต้องการแต่ดินให้ได้ไม่เพียงพอ ซึ่งจะประเมินได้จากการวิเคราะห์ดิน และใช้แบบจำลองการเติบโตของพืช หรือ crop model ส่วนปุ๋ยที่ให้จะเป็นปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยชีวภาพก็ได้ ข้อสังเกตคือ ปุ๋ยชีวภาพจะให้ปริมาณธาตุอาหารต่ำ ปุ๋ยอินทรีย์ให้ธาตุอาหารมากกว่าปุ๋ยชีวภาพ และบำรุงดิน แต่ไม่สามารถปรับสัดส่วนของธาตุอาหารให้ตรงกับที่ขาดอยู่ได้ ดังนั้นการจัดการดินให้มีผลิตภาพสูงจึงเป็นรากฐานของการเกษตรยั่งยืน และการเกษตรแม่นยำครั้งแรกของประเทศก็คือ ปุ๋ยสั่งตัด ที่มาจากการวิเคราะห์ค่าดิน ผลงานวิจัยของศ.ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันท์ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ได้รับทุนการสนับสนุนการวิจัยจาก สกว. เมื่อกว่า 20 ปี มาแล้ว

            ขณะที่ ผศ.ดร.เสาวนุช  กล่าวว่า แอพพลิเคชั่น “TFT ปุ๋ยสั่งตัด” ช่วยให้การค้นหาข้อมูล “ชุดดิน” และคำแนะนำ “ปุ๋ยสั่งตัด” ได้อย่างง่ายดาย ผ่านโทรศัพท์ (Smartphone) เกษตรกรเพียงเก็บตัวอย่างดินให้ถูกวิธี วิเคราะห์ดิน โดยใช้ชุดตรวจสอบดินแบบรวดเร็วของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดแอพฯ เลือกชุดดิน แล้วป้อนค่าวิเคราะห์ดิน โปรแกรมก็จะคำนวณปุ๋ยที่แนะนำให้ทันที รวมถึงราคาปุ๋ยที่ใช้ ซึ่งแอพพลิเคชั่น “TFT ปุ๋ยสั่งตัด” จะลดข้อจำกัดเกี่ยวกับการหาชุดดิน
เอกสารประกอบการเสวนา https://goo.gl/WTVf3g