“ประพัฒน์” เดินหน้าเต็มสูบ ดันให้เกษตรกรปลูกกัญชา ชี้จะทำให้ได้ลืมตาอ้าปาก และหลุดพ้นจากความยากจน ระบุเป็นพืชมีมูลค่าสูงถึงกิโลกรัมละ 1 หมื่น ถ้าสกัดเป็นน้ำมันกัญชามูลค่าเพิ่มขึ้น 10 – 20 เท่าตัว เผยหารือกับสภาอุตสาหกรรมฯ แล้ว พร้อมที่จะแปรรูปรอเพียงกม.ผ่านให้ปลูกได้เท่านั้น
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านการตลาด เป็นการพัฒนาภาคเกษตรให้ผลิตสินค้าคุณภาพเพื่อการส่งออก และพัฒนาผลผลิตไปสู่การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร โดยใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีมาบริหารจัดการผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด
นายประพัฒน์ กล่าวอีกว่า นับเป็นความร่วมมือที่จะก่อให้เกิดความเข้มแข็งทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเกษตรในอนาคต ซึ่งกลุ่มเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มพืชเศรษฐกิจหลัก เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา เป็นต้น และได้หารือกันว่าถ้ามองที่ความพร้อมนำร่องทำโซนนิ่งควรเป็น “สับปะรด” เพราะเกษตรกรมีความพร้อมหากเป็นพืชอื่นจะคุมโซนนิ่งต้องใช้เวลามากกว่านี้ กลุ่มไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก ไม้พะยูง ไม้มะค่า ไม้ชิงชัน ไม้ยาง ไม้ไผ่ เป็นต้น
กลุ่มผลไม้คุณภาพเพื่อการส่งออก เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด มะม่วง กล้วยหอม ส้มโอ เป็นต้น ซึ่งตลาดประเทศจีนตอนนี้ให้ความสนใจมังคุด ส้มโอเป็นอย่างมาก กลุ่มพืชพลังงาน เช่น อ้อย และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น กลุ่มพืชสมุนไพรทางการแพทย์และเวชสำอาง เช่น กระเทียม กระชาย ขิง ขมิ้น ตะไคร้ มะกรูด เป็นต้น โดยเฉพาะขณะนี้พืชสมุนไพรที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมากและลุ้นจะให้เป็นพืชเศรษฐกิจหลักตัวใหม่ที่เกษตรกรจะลืมตาอ้าปากหลุดพ้นจากความยากจนได้ คือ “กัญชา” ที่มีมูลค่าสูงถึงกิโลกรัมละ 10,000 บาท ตันละ 10,000,000 บาท แต่ถ้าสกัดเป็นน้ำมันกัญชามูลค่าเพิ่มขึ้น 10 – 20 เท่าตัว
ในส่วนของเรื่องการส่งเสริมนั้นได้มีการพูดคุยกับทาง สอท.ในเบื้องต้นแล้ว เพราะสอท.มีกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพรกับกลุ่มอุตสาหกรรมยาซึ่งได้เริ่มต้นวิจัยเรื่องการสกัดและพยายามผลักดัน หากสภาเกษตรกรฯสนับสนุนเกษตรกรปลูกแบบควบคุมพื้นที่ ผลผลิตที่ได้ส่งจำหน่ายยังกลุ่มสมุนไพรและอุตสาหกรรมยานำไปแปรรูปซึ่งสอท.มีความพร้อมอยู่แล้ว
“ตอนนี้เรารอแค่กฎหมาย ยืนยันว่าพื้นที่ในประเทศไทยร้อนชื้นเหมาะสมกับการปลูกกัญชามากที่สุด และมีสรรพคุณทางยาคุณภาพสูงไม่ต้องลงทุนเยอะเหมือนต่างประเทศที่ต้องมีโรงเรือน มุ้ง ปรับอุณหภูมิด้วยหลอดไฟ ประเทศไทยปลูกแบบธรรมชาติได้ต้นทุนจึงต่ำ เก็บเกี่ยวผลผลิต 3 รอบ/ปี แข่งขันในตลาดโลกได้สบาย แต่ขอเน้นย้ำว่าเพื่อการรักษาโรคเท่านั้น ไม่สนับสนุนสายบันเทิงหรือสันทนาการ” นายประพัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เขา บอกว่า ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาพืชกัญชาถูกกำจัด ทำลาย เผาทิ้งไปเยอะมากเกรงว่าจะสูญพันธุ์ดีๆไป สภาเกษตรกรแห่งชาติจึงจะจัดเวทีเสวนา เรื่อง “ความหลากหลายทางพันธุกรรมและสรรพคุณพืชสมุนไพรประจำถิ่น” เช่น กัญชา กระท่อม ฯ ในวันที่ 20 ธันวาคม 2561 โดยจะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้บรรยายบนเวที่สัมมนาในครั้งนี้