7 ข้อสรุปดัน”กัญชาเป็นยารักษาโรค”ของสภาเกษตรกรฯ

  •  
  •  
  •  
  •  

ในที่สุดการประชุมหารือกัญชา เพื่อการป้องกันรักษาโรค ครั้งที่ ๓/๒๕๖1 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน  2561 ณ ห้องประชุม 301 อาคารวชิรานุสรณ์ ชั้น ๓ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จตุจักร กทม.ในที่ประชุม ประธานที่ประชุม “ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ “ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เสนอให้สภาเกษตรกรแห่งชาติเข้าร่วมเป็นกรรมการสนับสนุนกฎหมายลูก ซึ่งตาม พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ. 2553 มาตรา11 (5)สภาเกษตรกรแห่งชาติมีหน้าที่ในการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านพันธุกรรมพืชและสัตว์ท้องถิ่น ผลผลิตทางเกษตรกรรม และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปผลผลิตทางเกษตรกรรม

1) สภาเกษตรกรแห่งชาติจะจัดเวทีเสวนาเรื่องความหลากหลายทางพันธุกรรม และสรรพคุณของกัญชาและกระท่อม ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่น ในวันที่ 20 เดือนธันวาคม 2561พร้อมเสนอที่ประชุมสภช.เพื่อพิจารณาโดยจะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้บรรยาย และมอบหมายสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติเป็นผู้จัดทำโครงการ (รองเลขาธิการและท่านวิทยาเป็นผู้จัดทำโครงการเสนอ)/สนับสนุนแถลงการณ์ของเครือข่ายประชาสังคมกัญชาเพื่อการแพทย์สำหรับประชาชน

2)หลักการในวันนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ….) พ.ศ…………..ของนายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และจะเดินทางไปพบนายสมชายฯในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 เวลา 11.00 น.เพื่อยื่นบันทึกสนับสนุนและความเห็นในการปรับปรุงแก้ไขร่าง ฯบางมาตรา

3) รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงและรักษาตนเองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ประชาชนย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ และรัฐมีหน้าที่ดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขตามมาตรา 55 และมีหน้าที่ตามมาตรา 57 รัฐมีหน้าที่อนุรักษ์ฟื้นฟูและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์คุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมดำเนินการ และได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว

รวมถึงการอนุญาตให้เข้าถึงการรักษาด้วยแพทย์แผนไทย ตำรับยาไทย ซึ่งได้ระบุเอาไว้แล้วมากกว่า 300 ปี สอดคล้องกับประกาศองค์การอนามัยโลกที่ให้ใช้ตำรับยาแผนโบราณที่มีอยู่เดิมและปราศจากสารพิษ โดยไม่ต้องวิจัยเพิ่มเติม

4) ห้ามต่างชาติจดสิทธิบัตรกัญชาและกระท่อมเป็นระยะเวลา 10 ปี เพื่อให้นักวิจัยไทยได้มีโอกาสวิจัยและพัฒนาสารสกัดจากกัญชาให้เท่าทันต่างชาติ

5) จัดตั้งองค์กรกัญชาเพื่อการป้องกันรักษาโรค (Medical Cannabis Organization)โดยมีสถานที่ตั้งองค์กรกัญชาเพื่อการป้องกันรักษาโรค เลขที่……………….เขตพระโขนง กทม. พร้อมทั้งมีพนักงานดูแลอำนวยความสะดวกโดยมีบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนให้เกิดกฎหมาย นโยบาย มาตรการต่างๆของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยและประเทศชาติโดยรวม รวมถึงการดูแลผู้ป่วยที่ใช้สารสกัดกัญชาในการรักษาตนเองด้วย

6) ให้พืชกัญชาและกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทยเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้สร้างรายได้ให้กับตนเองและประเทศชาติโดยรวม และจัดการให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมภายใต้การควบคุมกำกับดูแล          จากรัฐ

7) จัดตั้งศูนย์กลางบำบัดรักษาโรคด้วยกัญชาและกระท่อมในประเทศไทยให้สภาเกษตรกรแห่งชาติทำบันทึกถึงนายกรัฐมนตรีถึงแนวทางวิจัยและพัฒนาพืชกัญชาและกระท่อมเพื่อการบำบัดรักษาโรค

ทั้งหมดนี้เป็นข้อสรุปในที่ประชุมในครั้งนี้