ถก“สุขภาพดินและพืช”ระดับภูมิภาคหวังขจัดความหิวโหย

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ จับมือ สมาคมสถาบันวิจัยเกษตรแห่งเอเชียและแปซิฟิก จัดประชุมวิชาการระดับภูมิภาคแลกเปลี่ยนความคิดเห็น “สุขภาพดินและพืช” เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์งานวิจัยและพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หวังบรรลุเป้าหมายขจัดความหิวโหย และความเป็นอยู่ที่ดี

      นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเกี่ยวกับบทบาทของสุขภาพดินและพืชในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Regional Conference on the Role of Soil and Plant Health in Meeting Sustainable Development Goals (SDGs) in Asia Pacific Region) ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ สมาคมสถาบันวิจัยเกษตรแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APAARI) ได้จัดประชุมครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการดินและสุขภาพพืชในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และรับทราบสถานการณ์เชิงนโยบายและโครงการวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งองค์กรพัฒนาสังคม นักส่งเสริม และองค์กรสนับสนุนงบประมาณ

       อีกทั้งทราบปัญหาอุปสรรคด้านการจัดการดินและสุขภาพพืช เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ การเกิดระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนเพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการวางแผนยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคในการจัดการดินและ สุขภาพพืชโดยสร้างความร่วมมือ เครือข่าย และโครงการวิจัยระดับภูมิภาคต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิก APAARI ผู้แทนจากองค์กรวิจัยระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ สถาบันการศึกษา สมาคม องค์กรสนับสนุนงบประมาณในการดาเนินการวิจัย นักวิจัย ประชาสังคม ฯลฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 พ.ย. 2561 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์

       ด้านนายวราวุธ ชูธรรมธัช รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิชาการเกษตรตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพของดินและพืชในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สำหรับเรื่องดินนั้น ไทยเป็นประเทศแรกที่ได้เป็นประธานเครือข่ายความร่วมมือด้านดินแห่งเอเชียของ FAO และได้ขยายวาระการเป็นประธานวาระที่ 2 (2561-2564) ในส่วนของสุขภาพด้านพืช เป็นปัจจัยการผลิตที่มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและป้องกันความเสียหายต่อพืชในความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 2 คือการขจัดความหิวโหย และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 3 คือสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

       ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้บรรจุเรื่องสุขภาพดินและพืชไว้ในแผนยุทธศาสตร์งานวิจัยและพัฒนาของแต่ละหน่วยงาน  พร้อมทั้งมีความมั่นใจว่า APAARI จะเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการเพื่อปรับปรุงแก้ไขในประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาคต่อไป ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งเอเชีย อีกทั้ง FAO ได้เสนอให้ประกาศปี 2563 เป็นปีสุขภาพพืชนานาชาติ (International Year of Plant Health) ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องเชื่อมโยงระหว่างงานวิจัยและการค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วยความร่วมมือระดับภูมิภาคที่มีความเข้มแข็ง