“ภูมิใจไทย”ผุดไอเดีย ฝ่าวิกฤตราคาปาล์มน้ำมัน นำใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า

  •  
  •  
  •  
  •  

          ใกล้เข้ามาแล้ว สำหรับการเลือกใหญ่ ส.ส.ทั่วประเทศตามโรดแมปของรัฐบาลที่ประกาศจะให้การตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศราวๆเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ทำให้พรรคการเมืองเริ่มมีการทำแผนนโยบายของพรรคกันแล้ว  โดยประเด็นในด้านการแก้ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา และปาล์ม รวมถึงข้าวด้วย ที่ดูเหมือนว่า หลายพรรคการเมืองที่มีความตั้งใจจะแก้ปัญหานี้เพื่อความอยดีกินกินดีของเกษตรกร อันเป็นฐานเสียงขนาดใหญ่ ที่อาจจะชี้ชะตาของพรรคการเมืองที่จะได้คะแนนเสียงขึ้นมาได้

           ล่าสุดพรรคภูมิใจไทย ได้จ่อยกร่าง กม.ปาล์มน้ำมันขึ้นเว็บไซต์พรรค ระดมความเห็นช่วยเกษตรกร ภายใน 2 สัปดาห์ วงโดยในวันที่ 7 พ.ย.61พรรคภูมิใจไทย ได้จัดการเสวนา ปาล์มน้ำมัน จากพืชเพื่อการบริโภค สู่พืชพลังงานเพื่อระดมความคิดเห็น แก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ซึ่งเวทีสัมมนาในครั้งนี้ได้ข้อสรุปคือ จะนำปาล์มไปผลิตกระแสไฟฟ้า ผ่านระบบ Profit Sharing หรือ แบ่งปันผลประโยชน์ จะช่วยผลักดันให้ราคาปาล์มสูงขึ้น และเกษตรกรได้รับความเป็นธรรม

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ   

          นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ในฐานะผู้เปิดการเสวนา ได้เปิดฟลอร์ว่า  พรรคภูมิใจไทยจัดเสวนาขึ้นมาเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ซึ่งได้จุดประกายจาก นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด ที่ได้นำทีมไปแข่งฟุตบอลในพื้นที่ภาคใต้ ไปเจอปัญหา และได้ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ ที่จะนำผลผลิตจากปาล์มน้ำมันทั้งระบบไปผลิตเป็นพลังงาน ดังนั้นการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ จะได้รับฟังปัญหาจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ตกผลึก จะได้แนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนปาล์มทั่วประเทศที่มีประมาณ 2 แสนครอบครัว หรือ ประมาณ 1 ล้านคน

                                                      ฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์

           ข้อมูลและตัวเลขของ  นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ระบุว่า  ผลผลิตปาล์มทั่วโลกในปี 2560 มีประมาณ 72.2 ล้านตัน โดยอินโดนีเชีย ผลิตได้มากที่สุด 36 ล้านตัน หรือประมาณ 55.4 % ของโลก ส่งออก 56.2%  มาเลเซีย ผลิตได้ 18.9 ล้านตัน 29.5% ส่งออก 34.4% ส่วนประเทศไทยผลิตได้ 2.5 ล้านตัน คิดเป็น 3.9% ของโลก และมีปริมาณการส่งออก 0.5%

             ขณะที่ทั่วโลกสามารถผลิตปาล์มน้ำมันได้ ประมาณ 68.8 ล้านตันต่อปี โดยประเทศอินเดีย มากที่สุด 20.3% รองลงมา คือ กลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียู 15.8% จีน 10.6% และปากีสถาน 7% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น 4% และกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 4.5% “สะท้อนให้เห็นว่า อัตราการผลิต เพิ่มมากกว่าความต้องการใช้

           “ประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกปาล์ม 5.3 ล้านไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 4.7 ล้านไร่ มีผลผลิต ทะลายปาล์มดิบ 13.5 ล้านตัน สกัดเป็นน้ำมันปาล์มดิบได้ 2.5 ล้านตัน มีเกษตรกรปลูกปาล์ม 225,000 ครัวเรือน หรือประมาณ 1 ล้านคน เป็นเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาปาล์มตกต่ำ ซึ่งตามตัวเลข ขณะนี้ มีการปลูกปาล์มทั่วประเทศไม่เฉพาะภาคใต้ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจึงมีทั่วประเทศ เพราะต้นทุนการปลูกปาล์มปัจจุบันอยู่ที่ 2.94–3.06 บาท แต่ขายได้ 2.50 บาท ซึ่งอยู่ในภาวะขาดทุน ที่สำคัญน้ำมันปาล์มในสต็อกที่มีอยู่ 400,000 ตัน เป็นตัวฉุดให้ราคาตกต่ำ” นายฉกรรจ์ กล่าว

สำหรับการใช้ปาล์มนั้นจำนวน 2.5 ล้านตัน หรือ 40% ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่น  โรงงานไบโอดีเซล 33% ส่งออก 10% ที่เหลือเป็นสต็อก ปัญหาที่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบมากที่สุด คือมติของสหภาพยุโรป หรือ อียู ที่ต้องการควบคุมน้ำมันปาล์ม และ ยกเลิกการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตพลังงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทย เพราะอียูนำเข้าน้ำมันปาล์ม 15% ซึ่งจะทำให้ปาล์มจำนวนนี้่สูญหายไป

             ส่วนมาเลเซียได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด เพราะส่งออกไปตลาดอียูโดยตรง ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหา อยากให้พิจารณากรณีของอ้อยและน้ำตาล ที่มีระบบ Profit Sharing หรือการแบ่งปันผลผลิต โดยนำระบบจากอ้อยและน้ำตาลมาเป็นต้นแบบ คือแบ่งปันให้กับเกษตรกร ประมาณ 70% โรงงาน 30% อุตสาหกรรมอ้อย จึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีปัญหาน้อยที่สุด

            ดังนั้นส่วนตัวจึงเห็นว่า ควรนำระบบ Profit Sharing มาใช้กับปาล์มน้ำมัน เพราะในอนาคตปาล์มน้ำมัน จะมีปัญหาเรื่องราคา จึงจะต้องปรับโครงสร้างจากการผลิตเพื่อการบริโภค เป็นการผลิตเพื่อป้อนโรงงานไฟฟ้าโดยนำน้ำมันปาล์มดิบ ผสมกับน้ำมันเตาไปผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งมีการดำเนินการอยู่แล้ว ที่โรงไฟฟ้า จ.กระบี่ โดยระบบดังกล่าว จะมี 3 ส่วน คือเกษตรกร,โรงงานสกัด และโรงไฟฟ้า ใช้ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ ตามสัดส่วนการลงทุน เกษตรกรในฐานะผู้ลงทุนรายใหญ่ จะได้มากที่สุด 60-70% ดังนั้นถึงเวลาที่จะเราต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ถ้าทำได้เกษตรกรจะมั่นคง อยู่ดีกินดี แต่ที่สำคัญจำเป็นจะต้องมีการออกกฎหมายมารองรับ จึงขอเสนอให้พรรคภูมิใจไทยไปพิจารณา

                                                      เชาวลิต ศุภนคร

             นายเชาวลิต ศุภนคร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พีพีพี กรีนคอมเพล็กซ์ จำกัด กล่าวว่าอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันมีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท แต่เกษตรกรมีส่วนแบ่งเพียง 60,000 ล้านบาท โดยรายได้ที่เหลือ 150,000 ล้านบาท หรือ 75% จะถูกแบ่งไปยังโรงงานสกัด ภาคอุตสาหกรรม เชื้อเพลิง ไบโอดีเซล และพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพลังงานไฟฟ้า ซึ่งถือเป็น “ตัวเล่นใหม่” ที่มีมูลค่าสูง ดังนั้นการนำผลผลิตปาล์มน้ำมันไปใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง โดยประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้า ประมาณ 42,000 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าหมุนเวียน 3,004 เมกะวัตต์ ภาคใต้มีการใช้ไฟฟ้า 2,000 กว่าเมกะวัตต์ แต่มีกำลังไฟสำรอง 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งที่ผ่านมาเคยเกิดปัญหาไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้

          ” ปาล์มน้ำมัน 1 กก. สามารถสกัดเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงงานไฟฟ้าได้ 17-18 % ส่วนที่เหลือ ก็นำไปแปรรูปให้เป็นประโยชน์ โดยใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการบริโภคและอุปโถค อาทิ เมล็ดในปาล์ม หรือ เส้นใย ขณะที่ส่วนที่เหลือก็นำไปใช้ในการเป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงงานไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทลายปาล์ม หรือใบปาล์ม และหากพิจารณาตามต้นทุน การผลิตไฟฟ้า จากน้ำมันปาล์ม ก็ไม่ได้สูงกว่าพลังงานชนิดอื่นๆ โดยพลังน้ำมีต้นทุน 4.90 บาท/หน่วย พลังงานลม 6.06 บาท/หน่วย พลังงานแสงอาทิตย์ 5.66-6.85 บาท/หน่วย ไฟฟ้าจากพลังงานขยะ 5-6.30 บาท/หน่วย ชีวมวล 4.24-5.34 บาท/หน่วย  และก๊าซชีวภาพ 3.76 บาท/หน่วย สำหรับน้ำมันปาล์ม หลังจากก่อสร้างโรงงานสุกดีมารองรับ สามารถผลิตไฟฟ้าได้  45-60 ตัน/ชั่วโมง กำลังผลิต 200 ตัน/วัน ผลิตไฟฟ้าขนาด 45 เมกะวัตต์  เป็นไบโอแมส 10 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้า CPO 35 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 3,150 ล้านบาท มีต้นทุนค่าไฟฟ้า 5.27 บาท/หน่วย ในขณะที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ.รับซื้อที่ 7.43 บาท/หน่วย ถ้าทำได้จะช่วยให้ราคาปาล์มเพิ่มเป็น 4.5 บาทต่อกิโลกรัม” นายเชาวลิต กล่าว

  สอดคล้องแนวคิดของ นายพันศักดิ์ จิตรัตน์ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกระบี่ ประธานคณะทำงานด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหา ปาล์มน้ำมัน ด้วยการนำไปผลิตกระแสไฟฟ้านั้น หากพรรคภูมิใจไทยเอาแน่ มาหมดทั้งภาคใต้แน่ ๆ และการแก้ไขปัญหาปาล์ม นั้นจะส่งผลไปสู่เศรษฐกิจทุกภาคส่วนของประเทศไทย เพราะเมื่อเกษตรกรมีรายได้ ก็จะนำไปใช้จ่ายในประเทศไทย

                                           

                                                                 กิตติชัย เอ่งฉ้วน

       ด้านนายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ข้อเสนอการนำปาล์มน้ำมันมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า มีการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2558 แต่ก็โดนต่อต้านมาตลอด จนกระทั่งเกิดปัญหาไฟดับตลอดทั้งภาคใต้ จึงมีหลายฝ่ายมาคล้อยตาม เนื่องจากที่ผ่านมา เราใช้ถ่านหินมาผลิตไฟฟ้า และกลุ่มที่มีผลประโยชน์จากโรงไฟฟ้าถ่านหินออกมาต่อต้าน ขัดขวางปาล์มน้ำมันมาโดยตลอด หลังจากไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้ จึงได้ข้อสรุป เอาพืชพลังงานที่มีในท้องถิ่น คือ ปาล์มน้ำมันมาแทน นำผลผลิตปาล์มส่งให้โรงไฟฟ้าที่ จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 31 ต.ค.61 ที่ผ่านมาได้พบกับคุณเนวิน และได้ชวนกันไปดูกระบวนการและขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่และคิดว่าถ้าพรรคภูมิใจจะนำเรื่องนี้มาเป็นนโยบาย ซึ่งนอกจากจะสามารถยกระดับราคาปาล์มให้สูงขึ้นแล้ว ยังจะช่วยสร้างความยั่งยืนดด้านพลังงานให้พื้นที่ภาคใต้อีกด้วย 

             ในมุมมองของ นายอธิราษร์ ดำดี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ มองว่า ภาครัฐ ไร้น้ำใจกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์ม ทุกครั้งที่ยื่นมาตราการเพื่อให้ช่วยเหลือ กลับไม่ได้รับไปดำเนินการ ปล่อยให้เกิดความทุกข์ยากของเกษตรกรชาวสวนปาล์ม และยังบอกว่าให้ไปหาอาชีพอื่น ทั้งที่พวกเราปลูกกันมา 50-60 ปีแล้ว ทำเม็ดเงินเข้าประเทศรวมแล้วนับเป็นเงินนับล้าน ๆ บาท เราเกิดเป็นเกษตรกร ก็ตายด้วยอาชีพเกษตรกร ไม่มีเกษียณไม่มีบำนาญ อยากเห็นรัฐบาลเอาใจใส่ทุกข์สุขของราษฎรมากกว่านี้

                ส่วน นายอัจริยะ นพรัตน์ ประธานคลัสเตอร์น้ำมันปาล์มภาคใต้ กล่าวว่า ปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชมหัศจรรย์ สามารถใช้บริโภคได้ โดยแปรรูปเป็นน้ำมันพืช นำไปทอด และผัด หรือทำเครื่องสำอางค์ ครีมบำรุงผิว และ ยังอยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ นอกจากนี้ยังเป็นพลังงานสะอาด หรือ Clean Energy เพราะไม่มีสารกำมะถันเจือปนออกมา ขณะที่ผลผลิตต่างๆของพืชปาล์มน้ำมัน สามารถนำมาใช้สร้างมูลค่าได้ทั้งสิ้น อาทิ ทลาย เส้นใย เมล็ดใน และที่สำคัญของการเป็นพืชมหัศจรรย์ คือสามารถปลูกทดแทนได้ตลอดเวลา ตามต้องการ เมื่อเปรียบเทียบ กับพลังงาน ปิโตรเลียม ที่นับวันจะยิ่งมีปริมาณลดลง แต่พลังงานจากปาล์มน้ำมัน สามารถหามาทดแทนได้ตลอดเวลา

           ขณะที่ นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ ประธานการเกษตรเพื่อตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. ได้สะท้อนภาพรวมว่า วันนี้เกษตรกรลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ผลผลิตปาล์มน้ำมัน จะได้ประมาณ 22 ตันต่อไร่ ต่อมาเมื่อราคาตกลงมา การจะโค่นต้นปาล์ม เพื่อปลูกพืชนิดอื่นไปทดแทนมันทำไม่ได้ เพราะที่บ้าน จ.พัทลุง มีเกษตรกรปลูกปาล์ม ไม่ต่ำกว่า 1 แสนไร่ นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนภาครัฐ ไปเสนอแนวทางช่วยเหลือ ด้วยการแนะนำให้เอาแพะไปเลี้ยง 1 ไร่ต่อแพะ 3 ตัว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคิดได้อย่างไร จนมาได้พบ นโยบายการนำปาล์มน้ำมัน ไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ถือว่ามันเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ซึ่ง เป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่เป็นทางออก ตามหลักการการเมือง คือเครื่องมือในการช่วยเหลือเกษตรกร

             นายชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วน คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ กล่าวว่าผู้เกี่ยวข้องกับ ปาล์มน้ำมัน 2.2 แสนครัวเรือน หรือ 1 ล้านคนนั้น เป็นเพียงแค่ต้นน้ำ แต่ถ้ารวมทั้งระบบที่เกี่ยวข้องจะมีคนประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งรวมถึง กลางน้ำและปลายน้ำ การนำปาล์มน้ำมันมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า สามารถที่จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์มได้ และเป็นพลังงานสะอาด และการใช้ ผลประโยชน์แบ่งปัน จะเป็นโมเดล ในการแก้ไขปัญหา แต่ภาครัฐต้องเข้ามา เป็นมติใหม่ในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืน ให้กับเกษตรกร

  จากข้อมูลในวงเสวนาในครั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะผู้เปิดการเสวนา บอกว่า ภายใน 2 สัปดาห์นี้ ทางพรรคภูมิใจไทยจะนำร่างกฎหมาย ที่เกี่ยวกับเรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์ในเรื่องของราคาสินค้าเกษตร อัพโหลดขึ้นไปในเวปไซด์ของพรรค อยากให้ทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เข้าไปดูแล้วช่วยกันเสนอแนะ เพิ่มเติม ถ้าเห็นว่าร่างของทางพรรคภูมิใจไทยยังมีความไม่สมบูรณ์ แต่สิ่งนี้ คือ เครื่องยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทย และ ท่านหัวหน้าอนุทิน และพวกเราพรรคภูมิใจไทย มีความต้องการจะให้เห็นการแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรนั่นเอง