ถกแผนแม่บทตั้งศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชแห่งชาติ

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ เชิญผู้เชี่ยวชาญจาก NordGen ให้ความรู้ หวังเป็นแนวทางในการจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทการจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชแห่งชาติ พร้อมตั้ 2 คณะกรรมการ “อำนวยการ โครงการจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชแห่งชาติ และคณะคณะกรรมการดำเนินงานจัดทำแผนแม่บท” เพื่อเสนอของบประมาณ

           นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานจัดทำแผนแม่บทเพื่อเสนอของบประมาณโครงการจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชแห่งชาติ (National Plant Genetic Resources Center) ครั้งที 4/2561 (วาระพิเศษ) ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถานศึกษาต่าง ๆ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ความหลากหลายของทรัพยากรพันธุกรรมพืช เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0

          ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทเพื่อเสนอของบประมาณ โครงการจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชแห่งชาติ (National Plant Genetic Resources Center (NPGRC)) แบ่งเป็นคณะกรรมการ 2 คณะ ได้แก่ 1) คณะกรรมการอำนวยการ โครงการจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชแห่งชาติ และ 2) คณะกรรมการดำเนินงานจัดทำแผนแม่บทเพื่อเสนอของบประมาณ

           โครงการจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชแห่งชาติ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร โดยสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ได้ดำเนินการโครงการภายใต้ความร่วมมือ ไทย-สวีเดน และประสานงานด้านการอนุรักษ์กับ The Nordic Genetic Resource Center; NordGen ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ 5 ประเทศ ได้แก่ สวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ และเดนมาร์ค รวมถึงธนาคารเชื้อพันธุ์พืชสวาลบาร์ด (Svalbard Global Seed Vault, SGSV) ราชอาณาจักรนอร์เวย์ด้วย


            สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืช ซึ่งจะเติมเต็มนโยบายของรัฐบาล ในเรื่องของ BioBank ที่ประกอบไปด้วย พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ และสำหรับโครงการจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชแห่งชาติ (National Plant Genetic Resources Center) เป็นการรวมหน่วยงานที่ดำเนินการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชให้เป็นรูปธรรม เพื่อสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารและพื้นฐานสำหรับการพัฒนางานด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรมอาหาร ตลอดจนเทคโนโลยีชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศ ตามเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

            “ประโยชน์ของความร่วมมือในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของประเทศไทย และ NordGen ซึ่งนำไปสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์ในการจัดการ อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากเชื้อพันธุกรรมพืช เพื่อนำมาปรับใช้ในการทำงานของธนาคารเชื้อพันธุ์พืชได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสร้างโอกาสในการฝึกอบรมและศึกษาดูงานในหน่วยงานของ NordGen และการศึกษาต่อ ณ สถาบันการศึกษาด้านการเกษตรของประเทศสวีเดน เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาธนาคารเชื้อพันธุ์พืชของประเทศไทยเพื่อยกระดับสู่มาตรฐานสากลต่อไป” นายลักษณ์ กล่าว

             ด้าน นายอานัติ วิเศษรจนา ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ ได้เชิญคณะผู้เชี่ยวชาญจาก NordGen 3 ท่าน ได้แก่ Ms. Lise Lykke Steffensen ผู้บริหารจาก NordGen ประเทศสวีเดน Mr. Åsmund Asdal ผู้ประสานงานของ Svalbard Global Seed Vault ประเทศนอร์เวย์ และ Ms. Jette Nydam Hansen ผู้เชี่ยวชาญจาก NordGen ประเทศสวีเดน บรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับการดำเนินงานในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรม เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานของโครงการจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชแห่งชาติของไทย รวมทั้งการประชุมระดมสมองถึงแนวทางความร่วมมือกับหน่วยงาน NordGen และ Svalbard Global Seed Vault ด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมพืช เพื่อนำมาปรับเป็นข้อเสนอในการจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทการจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชแห่งชาติ

       นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย และผู้แทนจากองค์การอาหารการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รวมทั้งแขกผู้มีเกียรติของกระทรวงเกษตรฯ ร่วมรับฟังการบรรยายด้วย