รัฐมนตรีเกษตรฯ สั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ให่เร่งเดินหน้า “โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ปี 2561” ให้ได้ตามเป้า 2 ล้านไร่ ใน 33 จังหวัด หวังช่วยเหลือเกษตรกรแก้ปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด ราคาตกต่ำ
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ปี 2561 โดยมีเป้าหมายพื้นที่ดำเนินการในพื้นที่รวม 2 ล้านไร่ ใน 33 จังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพและแก้ไขปัญหาการผลิตสินค้าเกษตรล้นตลาดราคาตกต่ำทำให้เกษตรกรต้องมาร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐเป็นประจำและประการสำคัญหากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งมีหลักการสำคัญประกอบด้วย
1.เกษตรกรต้องมีข้อมูลเพื่อทราบราคาซื้อ/ขายผลผลิตและเงื่อนไขการรับซื้อผลผลิตรวมทั้งปริมาณความต้องการผลผลิตของตลาดก่อนตัดสินใจลงมือทำการเกษตร 2. รัฐต้องจัดให้มีมาตรการลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพของเกษตรกรด้วย เช่น การหาตลาดหรือผู้รับซื้อสินค้าเกษตรล่วงหน้าด้วยราคาที่เป็นธรรม, การประกันรายได้ขั้นต่ำของเกษตรกรหรือการรับรองราคารับซื้อผลผลิตของภาคเอกชน, การทำประกันภัยพืชผล และการสนับสนุนความรู้และเงินทุนหรือปัจจัยในการผลิตแก่เกษตรกร และ 3. มาตรการจูงใจเกษตรกร 4 มาตรการ เพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม คือ
[adrotate banner=”3″]
3.1) รัฐสนับสนุนสินเชื่อเป็นค่าปัจจัยการผลิตและการเตรียมดินผ่าน ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี ของวงเงินไร่ละ 2,000 บาท (ไม่เกิน 15 ไร่ต่อราย) 3.2) รัฐประสานเอกชนให้มารับซื้อผลผลิตหรือข้าวโพดอาหารสัตว์ตามคุณภาพในราคาไม่น้อยกว่าราคาขั้นต่ำที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด 3.3) รัฐสนับสนุนเบี้ยประกันภัย 65 บาทต่อไร่ เมื่อได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติจะได้รับชดเชยไร่ละ 1,500 บาท และ 3.4) รัฐกำหนดนโยบายให้สินเชื่อสถาบันเกษตรกร เพื่อเสริมสภาพคล่องในการรวบรวมและรับซื้อผลผลิตข้าวโพดผ่าน ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอในพื้นที่ตามโครงการ เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการและมีส่วนสำคัญในการดำเนินงานตามโครงการซึ่งอยู่ในจังหวัดและอำเภอมาร่วมวางแผนและกำกับหรือแนะนำการปฏิบัติงาน ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดในฐานะเลขานุการ อ.พ.ก. ซึ่งมีหน้าที่อำนวยการและติดตามงานด้านนโยบายรวมทั้งการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ โดยมีฝ่ายปฏิบัติการตามโครงการประกอบด้วย สำนักเกษตรจังหวัด/อำเภอ สำนักงานสหกรณ์จังหวัด สำนักงานชลประทานจังหวัด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัด และในบางจังหวัดได้ให้ความสำคัญโครงการนี้โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการประจำโครงการ (War Room) ขึ้นที่จังหวัดเพื่อติดตามงานให้บรรลุเป้าหมายของโครงการด้วยแล้ว
สำหรับประเด็นสำคัญที่ได้เน้นย้ำและเร่งรัดดำเนินการ คือ 1. ให้จัดเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่ เพื่อเชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการให้ตามเป้าหมายของแต่ละจังหวัด โดยให้จัดประชุมชี้แจงรายละเอียดของโครงการโดยเฉพาะเงื่อนไขที่เกษตรกรจะได้รับจากประโยชน์จากโครงการ ซึ่งมีเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คกก.สหกรณ์การเกษตรกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ กลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ใช้น้ำ กลุ่มเกษตรกรสมาชิก ศ.พ.ก. กลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart &Young Smart Farmers) กลุ่มเกษตรกรอาสาหมอดินหรือเกษตรกรทั่วไป ฯลฯ รวมทั้งประสานขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้สนับสนุนพนักงานประจำหน่วยไปร่วมงานกับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่
2. ขอให้กำกับและติดตามการประสานงานกับภาคเอกชนบริษัทต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง ในการตั้งจุดรับซื้อผลผลิต ราคารับซื้อ ตลอดจนเงื่อนไขการรับซื้อหรือเงื่อนไขในการทำสัญญาซื้อขายข้าวโพดล่วงหน้า เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรมต่อเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการด้วย และ 3. มอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ และอธิบดีที่เกี่ยวข้อง ประสานงานโดยตรงกับหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้ผุ้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ทุกเขตลงไปตรวจติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามโครงการทุกระยะ และให้รับฟังปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างดำเนินการ เพื่อร่วมกันแนะนำ แก้ไขปัญหาให้ผู้ปฏิบัติในพื้นที่หรือรายงานเข้ามายังส่วนกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ด้วย ทั้งนี้ ให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการโครงการประจำกระทรวงเกษตร ฯ (War Room) เพื่ออำนวยการประสานงานและติดตามเร่งรัดงานไว้ด้วย